ดัชนี S&P500 น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 2,000 จุดในระยะต่อจากนี้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากปัญหารัสเซียและยูเครน ทำให้นักลงทุนบางส่วนขายทำกำไรในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และทำให้ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวในลักษณะ sideway ที่ระดับประมาณ 1,820-1,830 จุด
แต่อย่างไรก็ดี ประเมินว่าสถาณการณ์ความขัดแย้งนี้น่าจะสามารถคลี่คลายได้ในที่สุด อีกทั้งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสเถียรภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขภาคการผลิตและตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคมีความมั่งคั่งสูงขึ้น กำลังในการใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตาม เห็นได้จากตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ที่ฟื้นตัว รวมทั้งตลาดแรงงานก็เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากที่อัตราว่างงานได้ลดลงมาเหลือ 6.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยปรับลดลงมาค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2556 ที่ระดับ 7.9% นอกจากนี้ผลการประชุมเฟด คณะกรรมการการประชุมเฟดมีมติให้ปรับลดขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เหลือวงเงิน 55,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ มองดัชนี S&P500 มีโอกาสรีบาวน์ขึ้นมาที่ระดับประมาณ 1,920-1,950 จุด โดยหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นของดัชนี S&P500 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการเริ่มลงทุนเพิ่มเติมในสินค้าทุน (Capital Spending) ของบริษัทต่างๆ ที่มากขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต วัสดุ ขนส่ง ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนอาจไม่ได้เติบโตได้ตามที่ตลาดคาดการณ์และปริมาณอุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก Shale gas ที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง ผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ Apple Inc. Google Inc. ต่างมีการลงทุนและพัฒนาสินค้าเพื่อเสนอขายและขยายฐานลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้เราให้ความสนใจกับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในขณะนี้ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นหลัก"
จากปัจจัยข้างต้น จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาและพิจารณาเห็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 3 อุตสาหกรรม ด้วยการเสนอขายกองทุนเปิดวรรณ ยูเอส 5 ฟันด์ (ONE US5 FUND) โดยตั้งเป้าหมายผลตอบแทนไว้ที่ 5% ภายในระยะเวลา 5 เดือน และจะเลิกกองทุนเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.53 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดวรรณ เดลี่ ภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
กองทุนนี้จะเน้นการลงทุนในกองทุน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยเน้นสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Enhance return) โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนในลักษณะ Core&Satellite ในการลงทุน โดยเน้นน้ำหนักการลงทุนหลักๆ ประมาณ 60% (Core Strategy) ใน Index โดยเฉพาะ S&P500 และ NASDAQ Index ซึ่งบริหารและจัดการโดยบริษัทจัดการชั้นนำของโลก อาทิ Vanguard Group Inc. Investco Powershares Capital Management และ SSgA Funds Management Inc. และกระจายการลงทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพในการเติบโตจากอานิสงส์ของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอีกประมาณ 30% อาทิ กลุ่มสินค้าบริโภค (Consumer Discretionary) อุตสาหกรรมการผลิต (Industrial) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (Materials) เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Satellite Strategy) ผ่านกองทุน ETF ที่บริหารจัดการโดย State Street Global Advisors ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ได้แก่ Consumer Discretionary Select Sector SPDR, ETF SPDR Dow Jones Industrial Average ETF และ SPDR Material select sector ETF