ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 21.4% และสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 120.2% เป็นผลสะท้อนจากการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังมากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ โดยธนาคารได้เพิ่มการตั้งสำรองส่วนเกินจากเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2.6 พันล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 56 จำนวน 724.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.7 เป็นจำนวน 2,698.2 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 395.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิก่อนกำหนด และผลสะท้อนจากการขยายสินเชื่อ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 60.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1 ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา และค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 269.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 106.0 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมการบริหารเงิน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 57 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 56 เพิ่มขึ้นจำนวน 295.9 ล้านบาทหรือ 21.4% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องของธนาคาร อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 57 อยู่ที่ 62.2% ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 56 อยู่ที่ 70.0% เป็นผลจากการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทั้งด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ กลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยสามารถดำรงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 57 อยู่ที่ 3.27% เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับปี 56 อยู่ที่ 3.18% โดยธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากที่ดีขึ้น
วันที่ 31 มี.ค.57 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 1.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.56 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้จำนวน 1.86 แสนล้านบาท ลดลง 0.4% จากสิ้นปี 56 จำนวน 1.87 แสนล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 92.4% จาก 91.6% ณ วันที่ 31 ธ.ค.56
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 3.1% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.56 อยู่ที่ 2.5% มีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกระทบลูกค้าภาคธุรกิจบางรายและต่อเนื่องสู่รายย่อย โดยที่ผลกระทบนี้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้และไม่น่าจะกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มี.ค.57 อยู่ที่ 100.6% ลดลงจากสิ้นปี 56 ซึ่งอยู่ที่ 107.8% ณ วันที่ 31 มี.ค.57 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 5.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.6 พันล้านบาทเงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มี.ค.57 มีจำนวน 2.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 13.4% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.1%