สรุปผลประกอบการ (ตามงบการเงินรวม) และฐานะการเงินที่สำคัญ สำหรับไตรมาส 1/57 สินเชื่อหดตัว 0.4% คิดเป็นสินเชื่อที่ลดลงจำนวน 3.7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้น ธ.ค.56 การเติบโตของเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.2% คิดเป็นจำนวน 16.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้น ธ.ค.56 กำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 223.5% จากไตรมาส 4/56 หรือลดลง 18.8% จากไตรมาส 1/56
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 4.22% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ หดตัว 5.7% จากไตรมาส 4/56 และ 2.5% จากไตรมาส 1/56 ซึ่งเป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการให้กู้ ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเช่าซื้อ และค่าธรรมเนียมบริการบัตรที่ลดลง อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 50.1% เมื่อเทียบกับ 50.9% ในไตรมาส 4/56
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 2.97% เทียบกับ 2.67% ใน ธ.ค.56 การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพ เป็นผลจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 134.5%
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 14.4% เมื่อเทียบกับ 14.7% ณ สิ้นเดือน ธ.ค.56 เงินให้สินเชื่อหดตัว 0.4% คิดเป็นสินเชื่อที่ลดลงจำนวน 3.7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้น ธ.ค.56 เป็นผลจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงตามปัจจัยด้านฤดูกาลซึ่งความต้องการสินเชื่อเพื่อรายย่อยจะลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี ขณะที่มีการชำระคืนของเงินทุนหมุนเวียนของสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.2% คิดเป็นจำนวน 16.5 พันล้านบาท จากสิ้น ธ.ค.56 สัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (CASA) ต่อสัดส่วนเงินรับฝากทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.1% ณ สิ้นเดือนมี.ค.57 เมื่อเทียบกับ 52.7% ณ สิ้น ธ.ค.56 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 4.22% สะท้อนการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนต่ำ
นายโนริอากิ โกโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลต่อการชะลอลงของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ประกอบกับปัจจัยด้านฤดูกาลของสินเชื่อเพื่อรายย่อยส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีหดตัว 0.4% ในไตรมาสแรกของปี ทั้งนี้ ในปี 57 กรุงศรียังคงให้ความสำคัญเชิงยุทธ์กับการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอและภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
“จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านการเมือง กรุงศรีจึงได้ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อสำหรับปี 57 จากเดิม 9% เป็นการขยายตัวในช่วง 7-9% ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 2.7%"