ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ 350 ล้านหรียญฯ KBANK ที่ BBB+

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 23, 2014 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (อันดับเครดิต ‘BBB+’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ ‘BBB+’ หุ้นกู้ดังกล่าวมีมูลค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีวันครบกำหนดชำระในเดือนตุลาคม 2562 โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ euro medium term note (EMTN) ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวม 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะออกโดย KBank สาขาหมู่เกาะเคย์แมน

การประกาศให้อันดับเครดิตครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการที่ธนาคารได้ทำการออกหุ้นกู้และฟิทช์ได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ซึ่งมีข้อมูลตรงตามที่ได้รับมาก่อนหน้า อันดับเครดิตที่ประกาศนี้เป็นอันดับเครดิตระดับเดียวกับที่ฟิทช์คาดว่าจะให้แก่หุ้นกู้ดังกล่าวตามที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต ได้แก่ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ที่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของ KBank ที่ ‘BBB+’ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

อันดับเครดิตของ KBank สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ในประเทศที่แข็งแกร่งของธนาคาร คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น เสถียรภาพในด้านการระดมทุน (funding) และสภาพคล่อง รวมทั้งฐานะเงินกองทุนที่อยู่ในระดับดีและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง

ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ได้แก่ อันดับเครดิตของของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ KBank

อันดับเครดิตของประเทศไทยที่สูงขึ้น สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นของสถานะทางการเงินของธนาคารโดยรวม น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่ออับดับเครดิตของ KBank อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (หรือ Viability Rating) ในปัจจุบันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้น้อย

ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรหรือเงินกองทุนลดลง ตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจรวมถึง การเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จากการมีระดับการกระจุกตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้น และ/หรือ การเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงเกินไป โดยความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไม่ได้มีการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอาจสะท้อนจากผลการดำเนินงานหรือเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ