บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 470.00 บล.เอเซีย พลัส ซื้อ 520.00 บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 500.00 บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 510.00 บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 580.00 บล.ทรีนิตี้ ซื้อ 540.00
นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกยังคงมีอัตราการเติบโตขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโครงการก่อสร้างในประเทศที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 56 รวมไปถึงการขยายฐานธุรกิจไปต่างประเทศ โดยราคาวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปส่วนธุรกิจกระดาษเริ่มมีทิศทางดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธุรกิจปูนซีเมนต์จะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในปี 59 หลังโรงงานใหม่ 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 4.5 ล้านตัน ที่อินโดนีเซีย พม่า และกัมพูชา เริ่มใช้กำลังการผลิตเต็มที่
ส่วนธุรกิจกระดาษนั้น SCC พยายามลดจุดอ่อนในส่วนธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียนที่เป็นตัวฉุดกำไร ด้วยการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับ Nippon Paper Industries ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าที่มี margin สูงขึ้น โดย SCC ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าลงทุนต่อไป และตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าไว้ถึง 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรที่สำคัญที่สุดในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือธุรกิจปิโตรเคมี ที่คาดว่าจะมีช่วงวัฏจักรขาขึ้นยาวนานไปจนถึงปี 60
"ราคาหุ้นยังมี Upside จาก Fair Value และผลประกอบการไตรมาสแรกที่จะประกาศออกมาในวันพุธที่จะถึงนี้ มองทิศทางกำไรก็น่าจะเติบโตจากปี 56 ประมาณ 7% แม้ว่าสถานการณ์การก่อสร้างในประเทศดูเหมือนจะดูไม่ค่อยสดใส แต่ยังมีโครงการก่อสร้างที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดขายปูนซีเมนต์เติบโตได้
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมียังเป็นตัวผลักดันหลักที่ขับเคลื่อนผลกำไรในปีนี้ ซึ่งมองแนวโน้มธุรกิจจะเป็นช่วงขาขึ้นและจะต่อเนื่องไปถึงปี 60 ส่วนธุรกิจกระดาษในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ไม่ค่อยดี แต่เชื่อมั่นว่าจากไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากที่ SCC ได้จับมือกับ Nippon Paper ผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาร่วมถือหุ้นในสายเยื้อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน" นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างมองว่าหากสถานการณ์การเมืองมีความยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกจะเริ่มเห็นถึงผลกระทบดังกล่าวมากขึ้น จากโครงการใหม่ๆที่ไม่มีออกมา แต่ในระยะสั้นยังมีโครงการก่อสร้างที่ต่อเนื่องจากปีก่อนเข้ามาจึงทำให้ช่วงครึ่งปีแรกความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ยังคงมีอยู่ ขณะเดียวกันธุรกิจปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงขาขึ้นจะส่งผลเชิงบวกและเข้ามาชดเชยในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบได้
นายดนัย ตุลยาพิศิษฐ์ชัย นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า ธุรกิจปิโตรเคมีกลับมาผลิตได้เต็มที่หลังจากปิดซ่อมไปในไตรมาส 4/56 ส่งผลให้กำไรปรับตัวเพิ่มมาเป็น 5 พันล้านบาท จาก 2.6 พันล้านบาทของไตรมาส 1/56
ส่วนธุรกิจปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างกำไรลดลงเล็กน้อยเหลือ 3.6 พันล้านบาทจาก 4 พันล้านบาท จากความต้องการใช้ปูนในประเทศที่ชะลอลงเหลือ 4-5% จากปีก่อนที่เติบโตเกิน 10% ทำให้ต้องหันไปส่งออกมากขึ้น
ขณะที่กำไรธุรกิจกระดาษอาจดีกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/56 จากราคากระดาษอุตฯดีขึ้นเล็กน้อย และยังเริ่มเดินสายการผลิตใหม่เพิ่ม โดยภาพรวมมองกำไรไตรมาส 1/57 น่าจะเพิ่มขึ้น 6% เป็น 9.3 พันล้านบาท ตามการผลักดันของธุรกิจปิโตรฯ
ทั้งนี้ คาดการณ์รายได้ปี 57 เพิ่มขึ้น 5-6% จากการผลิตปิโตรฯเต็มที่มากขึ้นจากปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุง
"ใน 3 ธุรกิจยังมีธุรกิจปิโตรฯที่เติบโตได้ดีอยู่ ซึ่งมีการส่งออกต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงเข้ามาชดเชยความเสี่ยงในธุรกิจอื่นๆ โดยในส่วนของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างปีนี้อาจจะเติบโตได้ไม่มาก ขณะที่ธุรกิจกระดาษก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ขายสินค้าที่ให้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มธุรกิจก็ยังพอไปได้เรื่อยๆ ในไตรมาส 1 นี้ คาดการณ์ว่าน่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังกังวลต่อแนวโน้มธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์การเมืองว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถลงทุนได้เร็วแค่ไหน" นายดนัย กล่าว
นายชาตรี ศรีสมัยเจริญ นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา ประเมิน ผลประกอบการ SCC ในไตรมาส 1/57 คาดธุรกิจปิโตรเคมีจะมีกำไรสุทธิ 9.1 พันล้านบาท จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์-วัตถุดิบหลักขยายตัวเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ทั้ง HDPE-Naphtha และ Polypropylene-Naphtha ได้รับปัจจัยบวกจากอุปสงค์ของจีนที่ยังแข็งแกร่ง
ด้านปริมาณขายโอลิฟินส์คาดจะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/56 แม้ว่าสายการผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอลิฟินส์เดินเครื่องได้เต็มไตรมาสในไตรมาส 1/57 ภายหลังปิดซ่อมบำรุงโรงงานเป็นระยะเวลา 45 วัน แต่อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน ส่งผลให้สต๊อกปิโตรฯที่คงเหลือจากปี 56 อยู่ในระดับต่ำจนบริษัทไม่ได้ประโยชน์ในแง่ปริมาณขาย
ขณะที่ธุรกิจปูนซิเมนต์เติบโตจากปริมาณขายที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3% เมื่อเทียบกับทั้งปี 56 ที่เติบโตสูงถึง 7% เนื่องจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนธุรกิจกระดาษแม้ได้รับปัจจัยลบจากส่วนต่างราคาที่แคบลงของทั้งกระดาษบรรจุหีบห่อและกระดาษ Fibrous และอุปสงค์ของกระดาษพิมพ์เขียนที่ชะลอตัวจากความนิยมในการใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์เข้ามาแทนที่ แต่การปรับสายการผลิตบางส่วนของกระดาษพิมพ์เขียนมาเป็นสินค้า High-value added ในช่วงปลายปีที่แล้ว มองว่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจกระดาษโดยรวมให้กลับมาเติบโตได้ในไตรมาสนี้
"จุดเด่นของ SCC อยู่ที่กลุ่มธุรกิจโดยรวมของบริษัทพึ่งพิงตลาดในประเทศน้อยกว่ารายใหญ่อื่นๆในกลุ่มเดียวกันและการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้า High value-added เป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กลุ่มบริษัท คาดผลประกอบการไตรมาส 1/57 จะเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน จากการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจปิโตรเคมีที่เริ่มฟื้นตัวในปี 56" นายชาตรี กล่าว
แนวโน้มผลประกอบการปี 57 ประมาณการณ์ว่านอกเหนือจากปัจจัยบวกจากธุรกิจปิโตรเคมีที่มีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จุดเด่นหลักของบริษัทอยู่ที่ความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจที่ช่วยลดการพึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งคาดว่าสัดส่วนกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในปี 57 จะขยับขึ้นเป็น 40% ของกำไรสุทธิโดยรวมและธุรกิจที่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะมีสัดส่วนลดลงเป็น 40% ของกำไรสุทธิโดยรวม
รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นสนับสนุนอัตราเติบโตของผลประกอบการในอีก 2 ปีข้างหน้า ราคาหุ้นปัจจุบันยังคงถูกและให้อัตราผลตอบแทนปันผลราว 3.6% ต่อปี จึงเหมาะสำหรับซื้อสะสมเพื่อการลงทุนในระยะยาว
นายณัฐ พนัสสุทรากร นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการ SCC ไตรมาส 1/57 น่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจหลักในเครือทั้ง 3 กลุ่ม มองธุรกิจปิโตรเคมีแม้ราคา Olefins จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ราคา naphtha ที่ลดลงจากการกลับมาผลิตของโรงงานปิโตรเคมี ทำให้ส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์โดดเด่นอยู่ในระดับที่สูง
นอกจากนี้การเดินเครื่องด้วยอัตราการผลิตเต็ม 100% ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้ EBITDA Margin ในไตรมาสที่ 1/57 เพิ่มขึ้นเป็น 11.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจกระดาษการที่บริษัทปรับปรุงโรงงานผลิตสามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่แข็งแกร่งในช่วงตรุษจีนได้ และการมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ HVA product ส่งผลให้อัตรากำไรสูงกว่าสินค้าทั่วไปประมาณ 5-10% ก็น่าจะช่วยให้ EBITDA Margin ในไตรมาสที่ 1/57 ยืนอยู่ได้ที่ 17.1% จาก 18.5% ในไตรมาสที่ 1/56
ด้านธุรกิจปูนซีเมนต์ปริมาณยอดขายปูนของ SCC คาดจะโตได้ถึง 4-5% จากโครงการก่อสร้างที่มีอยู่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งช่วยชดเชยตลาดกระเบื้องหลังคาที่กำลังทรุดตัวอย่างหนักได้ ขณะเดียวกันระดับราคาขายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ทรงตัวอยู่ที่ 1,900-1,950/ตัน และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดก็น่าจะสนับสนุนให้ EBITDA margin ในไตรมาสที่ 1/57 ทรงตัวอยู่ได้ที่ 15.0% จาก 15.1% ในไตรมาสที่ 1/56
คาดกำไรปกติปี 57 จะเพิ่มขึ้น 7.1% เป็น 3.77 หมื่นล้านบาท จาก 3.52 หมื่นล้านบาท ในปี 56 จากส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง และการเดินเครื่องที่อัตราการผลิตเต็ม 100% ของโรงงานปิโตรเคมีหลักทั้ง 2 แห่ง และการฟื้นตัวของธุรกิจกระดาษหลังจากที่ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงงานกระดาษเป็นผลสำเร็จ เน้นการดำเนินกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ HVA รวมถึงจากวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวโน้มกำไรให้แข็งแกร่งในอีกสามปีข้างหน้าอีกด้วย
นายดุลเดช บิค นักวิเคราะห์ บล.ทรีนิตี้ กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/57 คาดจะมีรายได้อยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 9.34 พันล้านบาท ยังคงได้แรงหนุนจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังโตต่อเนื่อง จากสัญญาณเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ทำให้การบริโภคสินค้าที่ใช้ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาดการณ์ไว้
ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้จากโครงการที่ยังมีการดำเนินการก่อสร้างอยู่ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยทางการเมืองที่ยังกดดันอยู่ ซึ่งทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนชะลอตัว ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 ขยายฐานธุรกิจเดิม และธุรกิจกระดาษคาดว่ายังทรงตัว แต่หลังจากที่บริษัทได้ บริษัท Nippon จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ Dissolving Grade Pulp ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี Margin สูงกว่าเยื่อกระดาษธรรมดาซึงคาดว่าน่าจะเห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น High Value Added (HVA) ที่จะเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยจะเป็นลักษณะ M&A หรือ Joint Venture เพื่อต่อยอด
"ยังมองว่าธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงที่เป็นขาขึ้นซึ่งจะช่วยทำให้ผลประกอบการปีนี้ยังคงเติบโตได้ แม้ในส่วนของธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่คาดว่าธุรกิจปูนซีเมนต์ยังคงเติบโตได้ 5-7% นอกจากนี้บริษัทยังคงมีแผนที่ยังขยายธุรกิจไปยังแถบภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง"นายดุลเดช กล่าว