(เพิ่มเติม) JAS คาดตั้งกองทุน IFF 7 หมื่นลบ.ราว มิ.ย.57 หวังเพิ่มงบลงทุนขยายโครงข่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 25, 2014 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS)คาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เนตขนาด 7 หมื่นล้านบาทได้ในช่วงเดือน มิ.ย.57 ขณะนี้อยู่ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) คาดว่าจะมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯวราว 3 หมื่นล้านบาท และมีผลให้งบลงทุนของบริษัทในการใช้ขยายโครงข่ายปีนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 3-4 พันล้านบาท
"บริษัทคาดว่าจะมีกำไรจากการนำสินทรัพย์ขายเข้ากองทุน IFF ประมาณ 3หมื่นล้านบาท แต่จะทยอยบันทึกเป็นกำไรพิเศษกี่ปีขึ้นอยู่กับก.ล.ต.และผู้ตรวจสอบบัญชี จะทำให้กำไรของบริษัทในปีนี้จะสูงขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3 พันล้านบาท"นายพิชญ์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนไปใช้ขยายธุรกิจ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดจะใช้งบลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปกติ 1.5-2 พันล้านบาท เป็น 3-4 พันล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในจุดที่ประชากรไม่หนาแน่นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ปัจจุบัน โครงข่ายที่จะนำไปขายเข้ากองทุน IFF มีลูกค้าใช้งานอยู่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านราย ซึ่งกลุ่มบริษัทเช่ากลับมาใช้งาน คงเหลือให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาเช่าไม่มาก

"การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำในตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากที่สุดในประเทศ บริษัทมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีขึ้น เพราะเชื่อว่าการระดมทุนในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะประสบความสำเร็จด้วยดี สำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาและขยายโครงข่ายการให้บริการอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีโครงข่าย หรือการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้บริษัทมีการเติบโตในอนาคตอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ"นายพิชญ์ กล่าว

ในช่วง 3 เดือนแรกบริษัทมีลูกค้าใหม่ของบริการบรอดแบนด์ 6 หมื่นราย และคาดว่าทั้งปีจะมีลูกค้าใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 2.3-2.4 แสนราย ทำให้คาดว่าสิ้นปี 57 จะมีฐานลูกค้ารวมเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย จากปีก่อนมีฐานลูกค้า 1.4 ล้านราย (ลูกค้า FTTX มี 2 หมื่นราย) ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้า FTTX อยู่ที่ราว 10% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้บริการที่มีอัตรากำไรสูง

นายพิชญ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง จากปีก่อนอันดับ 3 และเบียด บมจ.ทีโอที ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 โดยยังคงมี ทรู เป็นอันดับ 1 ปัจจุบันบริษัทให้บริการบรอดแรนด์ระบบ ADSL ในอัตราค่าบริการเดือนละ 590 บาท ความเร็ว 10 Mbps ครอบคุลมพื้นที่ให้บริการมากที่สุด และให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตระบบใหม่ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงด้วยเทคโนโลยี FTTx ที่ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพและสังคมเมืองในต่างจังหวัดความเร็วตั้งแต่ 30-1000 Mbps ค่าบริการเดือนละ 1,200 บาท

ส่วนธุรกิจ Wifi ที่ทำสัญญาให้บริการกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือเอไอเอสเมื่อไตรรมาส 1/57 เอไอเอสตัดการใช้งานที่ลูกค้าที่ไม่ได้ใช้งาน 2 เดือน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ต่อสัญญากับเอไอเอส 3 ปี ดังนั้น จึงตั้งเป้าลูกค้า Wifi ไปที่ 6 แสนราย นอกจากนี้มีการหารือกับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)แล้วคาดว่าเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุปที่จะร่วมมือกันค

นายพิชญ์ เห็นว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตในธุรกิจบรอดแบนด์ต่อไปได้อีกมาก โดยในปี 55 มีสัดส่วนการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตตวามเร็วสูงต่อครัวเรือนในประเทศไทยมีเพียง 18.9% เท่านั้น ซึ่งไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการใช้บริการมากกว่า 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ