ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนช่องสัญญาณให้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดาวเทียม และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงดาวเทียมไทยคม 7 ที่บริษัทมีแผนในการจัดส่งในราวกลางปีนี้อีกหนึ่งดวงด้วยเช่นกัน
สำหรับดาวเทียมไทยคม 8 ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมของโครงการ ทั้งทางด้านการลงทุน ด้านเทคนิค ด้านการตลาด รวมทั้งการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยได้สิทธิใช้งานวงโคจรเพิ่มเติมตามข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ขณะนี้เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทจึงสามารถจะเริ่มดำเนินโครงการได้ทันที
บริษัทคาดว่าจะสามารถนำดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นให้บริการในวงโคจรได้ในครึ่งแรกของปี 2559 โดยจะทำให้ประเทศไทยมีช่องสัญญาณดาวเทียมเพียงพอต่อการใช้งาน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมบรอดคาสต์ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีโทรทัศน์ความคมชัดสูง (ระบบ HD) และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบ “อัลตร้า เอชดี" (Ultra HD) ในอนาคต อีกทั้งในต่างประเทศก็มีปริมาณความต้องการใช้งานดาวเทียมที่กำลังเติบโตขึ้นอีกมากเช่นกัน ดังนั้น การเดินหน้าโครงการดาวเทียมไทยคม 8 จึงไม่เพียงรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมบรอดคาสต์ในเมืองไทย แต่ยังเป็นการเสริมศักยภาพของดาวเทียมไทยชั้นนำที่รุกให้บริการในตลาดเอเชียและแอฟริกาด้วย
ดาวเทียมไทยคม 8 ได้รับการออกแบบให้มีช่องสัญญาณแบบเคยูแบนด์รวมทั้งสิ้น 24 ช่องสัญญาณ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียใต้ และแอฟริกา โดยมีแผนในการจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก เพื่อตอกย้ำความเป็นดาวเทียม Hot Bird ของไทยคม ซึ่งจะเป็นลักษณะของการ Collocation กับดาวเทียมไทยคม 5 และ 6 ที่บริษัทฯ ได้จัดส่งขึ้นสู่วงโคจรไปก่อนหน้านี้ โดยดาวเทียมไทยคม 8 มีบริษัท ออบิทอล ไซเอนซ์ส แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตดาวเทียม และ บริษัท สเปซ เอ็กซพลอเรชั่น เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น (สเปซ เอ็กซ์) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้บริการจัดส่งดาวเทียม ทั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนโครงการไม่เกิน 178.5 ล้านเหรียญสหรัฐ