ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม บล.เคที ซีมิโก้ ที่ “BBB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 30, 2014 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บล.เคที ซีมิโก้ ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ตลอดจนการมีบริษัทในเครือที่เปิดดำเนินกิจการในประเทศลาวและเวียดนาม รวมถึงการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงไทย(KTB) และ บล.ซีมิโก้(ZMICO)ซึ่งถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 50% และ 49.6% ตามลำดับ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ธนาคารมีกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดของบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากฐานทุนที่ค่อนข้างตึงตัวและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป และจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ภายใต้สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งจะคงไว้ซึ่งระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอในการควบคุมความเสี่ยงในการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ รวมไปถึงกิจกรรมป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะไม่ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วเกินไปจนกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในปี 2556 ยังคงมีขนาดใหญ่โดยอยู่ที่ 3.93% (อันดับ 12 จากนายหน้า 33 ราย) แม้จะลดลงบ้างเล็กน้อยจากปีก่อน ๆ แต่อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าโดยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ 0.18% ในปี 2556 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าบริษัทคู่แข่งหลายราย

บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้ารายย่อย โดย 39% ของบัญชีเปิดใหม่ในปี 2554 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารกรุงไทย เทียบกับในปี 2553 ซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวไม่ถึง 10% ในปี 2555 และ ปี 2556 สัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 43% และ 46% ตามลำดับ บริษัทได้ใช้ความพยายามในการทำให้พนักงานของธนาคารมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการแนะนำลูกค้าของธนาคารให้มาใช้บริการของบริษัท

นอกจากความช่วยเหลือในการขยายธุรกิจแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังให้การสนับสนุนแก่บริษัทในด้านการเงินด้วย โดยประมาณ 80% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่บริษัทมีเป็นวงเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องและมีเงินทุนเพียงพอในการขยายธุรกิจ การสนับสนุนจากธนาคารในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่ใช่บริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์

บริษัทจัดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ไทยรายแรก ๆ ที่ขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอินโดจีน โดยบริษัทถือหุ้น 30% ใน BCEL-KT Securities Co., Ltd. (BCEL-KT) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 1 ใน 2 แห่งของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีเครือข่ายอยู่ในประเทศเวียดนามด้วยโดยผ่านการลงทุนใน Thanh Cong Securities Joint Stock Company ของบล.ซีมิโก้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอีกรายหนึ่ง (ในสัดส่วน 49.6%)

การริเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศก่อนคู่แข่งไทยรายอื่นน่าจะสร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทในการให้บริการวาณิชธนกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้ามชาติ แม้ว่ารายได้จากการให้บริการวาณิชธนกิจในปี 2556 คิดเป็นเพียง 2% ของรายได้รวมของบริษัท ซึ่งลดลงจาก 12% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2555 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดหวังที่จะเห็นธุรกิจวาณิชธนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ให้บริการแก่ลูกค้านอกประเทศ จะสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของบริษัทต่อไปอีกในอนาคตอันใกล้

แม้ว่าภายหลังการรับโอนธุรกิจหลักทรัพย์จาก บล. ซีมิโก้ในปี 2552 จะทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่มีกำไร แต่สัดส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 72% ของรายได้สุทธิในปี 2556 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับประมาณ 60% การมีสัดส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำนี้อาจทำให้บริษัทตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบในการแข่งขันและอาจส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นภายหลังการเปิดเสรี สิ่งท้าทายสำหรับผู้บริหารของบริษัทคือความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายและการกระจายรายได้ไปในธุรกิจที่ไม่พึ่งพิงรายได้ค่านายหน้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนได้ ทั้งนี้ บริษัทยังพึ่งพิงรายได้ค่านายหน้าเป็นหลัก โดยสัดส่วนรายได้ค่านายหน้าต่อรายได้รวมเฉลี่ยระหว่างปี 2552-2556 อยู่สูงเกือบ 75%

ในอดีตการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทไม่ได้มีการลงทุนแบบเก็งกำไร แต่หันมาเน้นการลงทุนแบบ Arbitrage กับการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ สัดส่วนปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทเมื่อเทียบกับยอดซื้อขายรวมของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 15% ในปี 2552 เหลือ 0.4% ในปี 2556

ยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในระหว่างปี 2556 เพิ่มขึ้นถึง 4.4 พันล้านบาทจากสิ้นปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3 พันล้านบาท การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อนี้สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีสัดส่วนการให้สินเชื่อเทียบกับยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรมค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ระดับ 6%-7% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมีฐานเงินทุนที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อนี้จึงทำให้บริษัทจัดว่ามีการใช้หนี้สินเทียบกับทุนที่สูงมากที่สุดบริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะใช้ความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อหรือในการตัดสินใจใดใดที่จะส่งผลในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 พันล้านบาทจาก 2.1 พันล้านบาท ณ สี้นปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเดิมในระหว่างปี 2556 เป็นการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างดีของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35% เทียบกับ 24% ในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการใช้ทุนอย่างเต็มที่ของบริษัททำให้บริษัทจัดว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งทริสเรทติ้งจะต้องติดตามความคืบหน้าในกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ