การดำเนินงานจะต้องเร่งปรับแผนเพื่อแก้ปัญหารายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปัญหาหลักขณะนี้คือการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องแก้จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคและใช้จุดแข็งมาเสริม ซึ่งได้ตั้งกรรมการขึ้นมากำหนดกลยุทธ์แล้ว และจากนี้ไป 4 เดือนจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก รวมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวิเคราะห์แผนก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อนำไปปฎิบัติ
"ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 57 อาจจะเป็นช่วงที่ธุรกิจอยู่ใน Momentum ที่ต่ำกว่าศูนย์ ดังนั้นต้องหยุดกราฟที่กำลังตกก่อน แล้วค่อนดึงกลับขึ้นไปเป็นบวก ซึ่งไม่ง่าย เพราะภาวะการแข่งขันและการเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยลบ แต่หวังว่าในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ปี 57 แผนที่ปรับปรุงจะกระตุ้นได้บ้าง"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
สำหรับการบริหารการบินไทยจากนี้จะต้องเน้นหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์มาให้ความรู้และอบรมบอร์ดและผู้บริหารให้เข้าใจหลักปฎิบัติและกลไกเพื่อดูแลบุคลากรในบริษัทให้ได้รับความเป็นธรรมและกันเท่าเทียมเชื่อว่าเครื่องมือการบริหารที่เพิ่มเติมขึ้นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน และจะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างบริษัทกับพนักงานลงได้
รวมถึงได้ยุบรวมคณะกรรมการด้านกฎหมายและด้านติดตามคดีเป็นคณะเดียวกัน เพื่อใช้เวลากับการเจรจาทำความเข้าใจแก้ปัญหาขัดแย้งแทนที่จะมุ่งไปที่ฟ้องร้องกันอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ในปีหน้าจะต้องมีการปรับกลยุทธ์หลายด้าน เน้นด้านมาตรฐานคุณภาพบริการและความปลอดภัย โดยการบินไทยยังคงเป็นบริการระดับพรีเมี่ยมและให้ไทยสมายล์ทบริษัทลูกเป็นทางเลือกสำหรับผู้โดยสารกึ่งพรีเมี่ยม ส่วนนกแอร์แข่งขันในตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์
ส่วนกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่ต้องการให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลับมาเป็นกรรมการบริษัทฯอีกนั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กรรมการมีทั้งหมด 15 คน ทำงานเป็นทีม มีคณะอนุกรรมการอีก 12 ชุดรับผิดชอบแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนบริษัทไปพร้อมกัน แต่ก็พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ถือหุ้นเพื่อนำไปปรับปรุง และจะมีประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบตรงไปตรงมา
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะกรรมการ THAI กล่าวว่า กรรมการการบินไทยผ่านการคัดสรรเข้ามารับตำแหน่ง และกรรมการทั้ง 15 คนมีความสามารถในแต่ละด้าน ไม่ได้อ่อนด้อยกว่าคณะกรรมการของสายการบินอื่น หน้าที่คือวางนโยบายจึงจะลงลึกมากไม่ได้เพราะจะเป็นการแทรกแซง ที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างทั้งการตลาด, การขาย, ครัวการบิน และ การขนส่ง แต่สถานการณ์ยังไม่ปกติ ผลงานจึงยังไม่ดีมาก
นอกจากนี้จะเพิ่มคณะกรรมการความเสี่ยงด้านการแลกเปลี่ยนและความปลอดภัย จากเดิมที่ทำเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันซึ่งได้ส่วนต่างปีละ 1,500 ล้านบาท โดยในระยะสั้นต้องพยายามหารายได้เพิ่มและลดรายจ่าย
นายคณิศ ยืนยันว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่มีแนวคิดในการแปรรูป THAI ไปเป็นเอกชนเต็มรูปแบบในขณะนี้ตามที่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ใช่เรื่องหลักที่จะการันตีว่าทำแล้วผลประกอบการจะดีขึ้นเสมอไป แต่เห็นว่าการปรับโครงสร้างมีความจำเป็นมากกว่า และหากบริษัทดีขึ้นการแปรรูปก็ไม่จำเป็น หรือเป็นเรื่องท้ายสุดที่จะทำ ส่วนความเห็นของกระทรวงคลังในเรื่องนี้เป็นคนละส่วนกับคณะกรรมการ
อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้จะตั้งคณะกรรมการสรรหา ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (CFO) โดยมีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการบริษัทเป็นประธานสรรหาฯ เพื่อหามืออาชีพเข้ามาช่วยทำงาน เนื่องจากนางสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชีได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นการสรรหาครั้งแรกโดยเปิดกว้างทั้งคนและคนนอก