"ปี 57 มองยอดขายรวมที่ 4.76 แสนล้านบาทน่าจะทำได้ตามเป้า เพราะไตรมาส 1/57 ยอดขายรวมโตกว่าคาด โดยตั้งเป้ายอดขายรวมปีนี้โต 10% แต่ไตรมาส 1 โตได้แล้ว 11% ครึ่งปีหลังอาจปรับเป้าขึ้น อีกทั้งธุรกิจปิโตรฯ ดีขึ้นมากในไตรมาส 1/57 และคาดยังดีต่อเนื่อง"นายกานต์ กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)ปิโตเคมีในช่วงต้นปีปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ HDPE และแนฟทาในไตรมาส 1/57 เพิ่มขึ้นเป็น 620 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือสูงขึ้น 30 เหรียญสหรัฐ/ตันจากปี 56 และวันนี้ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 598-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการอ่อนตัวในช่วงสั้น และระยะต่อไปราคาก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งธุรกิจปิโตรเคมีจะเป็นตัวหลักที่ขับเคลื่อนรายได้ของบริษัทในปีนี้
ขณะที่ยอดขายปูนซิเมนต์ในประเทศปีนี้คาดว่าจะเติบโตในช่วง 0-3% ตามภาวะตลาดรวมที่คาดว่าความต้องการปูนในประเทศจะลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 4% แม้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.57 ยังเติบโต 4-5% แต่เป็นการเติบโตจากความต้องการที่ค้างท่อมาจากปลายปีก่อน เช่น โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า แต่มาถึงเดือน มี.ค.57 การเติบโตลดลงเหลือ 0% หรือไม่เติบโต เพราะไม่มีโครงการใหม่ๆออกมา ทำให้คาดว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองลากยาวถึงสิ้นปีอาจจะทำให้ความต้องการใช้ปูนไม่เติบโต ขณะที่ยอดขายวัสดุก่อสร้างไตรมาส 1/57 ก็ลดลง 10%
ดังนั้น บริษัทจึงหันไปพึ่งพาตลาดส่งออกมากขึ้น โดยในปีนี้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 27-28% และรายได้ในประเทศเหลือ 63-64% จากปีก่อนส่งออก 25-26% และในประเทศ 65% ซึ่งเชื่อตลาดส่งออกไปได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ อย่างสหรัฐและยุโรปที่เศรษฐกิจในปีนี้น่าจะเติบโตเป็นบวก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียก็ยังมีความต้องการเติบโตต่อเนื่อง เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา
"ความต้องการปูนในประเทศต้องดูสถานการณ์อีก 7-8 เดือน ยอดขายก็ไม่ได้ลดฮวบฮาบ ค่อยๆ ชะลอลง แต่เราก็สามารถส่งออกได้ ตลาดภูมิภาคยังเติบโตค่อนข้างดี ปีนี้จะส่งออก 27% เพราะเชื่อว่าจากนี้ไปตลาดโลกน่าจะดีขึ้น ซึ่งสัดส่วนส่งออกเป็นเอเชียใต้ 42% ถือว่ายังดีมาก ยุโรปปัญหาการเงินไม่มี ปีนี้ก็น่าจะ growth 1% สหรัฐฟื้น demand ค่อยๆ มา เวียดนามไปได้ดีมาก พม่ายอดขายซีเมนต์โต 20% เราก็ลงเต็มที่ กัมพูชาเต็มที่ โรงงานเดิมผลิตเต็มที่และส่งปูนจากไทยไปเพิ่ม"นายกานต์ กล่าว
ล่าสุด คณะกรรมการบริษัท SCC เห็นชอบการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศลาว มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลิตปูนซีเมนต์กำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน/ปีในแขวงคำม่วน รองรับความต้องการปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบของประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้าโขง (Greater Mekong Sub-region หรือ GMS) โดย SCC จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในไตรมาส 2/60
นายกานต์ กล่าวว่า สำหรับการขยายตลาดในเวียดนามนั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปซื้อกิจการโรงปูนซิเมนต์ แต่ยังติดเรื่องราคายังสูง และภาวะโอเวอร์ซัพพลายของตลาดปูนซิเมนต์ในเวียดนาม
"เวียดนามคงไม่ได้มอง green field เพราะโอเวอร์ซัพพลาย ถ้าจะเกิดคงซื้อกิจการซะเลย แต่ราคายังสูงอยู่ ซึ่งเจรจาหลายรายแต่ปัญหาคือราคาสูง"นายกานต์ กล่าว
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ(M&A)อีกหลายแห่ง คาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจาได้อย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทให้สามารถต่อยอดไปได้ โดยเงินลงทุนจะมาจากงบลงทุนของบริษัทในปีนี้ที่ตั้งไว้รวม 5-6 หมื่นล้านบาท