สำหรับการนำธุรกิจท่อก๊าซที่มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท (ท่อก๊าซ 4 เส้น) แยกออกมาบริหารในหน่วยธุรกิจนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารท่อก๊าซที่จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมใช้ท่อก๊าซ โดยจะต้องมีกฎกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และต้องมีผู้กำกับดูแล (Regulator) เพื่อลดข้อสงสัยการผูกขาดและการขายน้ำมันแพงของปตท. ทั้งนี้อาจจะจัดตั้งเป็นบริษัทแยกต่างหาก หรืออาจจะอยู่ในรูปกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
"ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่แยกหน่วยธุรกิจมาดูท่อก๊าซ แต่แยกการบริหารงานเนื้อก๊าซ และจะให้ Third Party ใช้ท่อก๊าซขึ้นกับกฎกติกา....ท่อก๊าซไม่ใช่เรื่องผูกขาด เมื่อ 34 ปีที่แล้วเราสร้างบ้านเพื่ออยู่เอง แต่วันนี้เราจะเปิดเป็น service apartment เราก็ต้องมีกฎกติกาให้ชัดเจน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรามีความตั้งใจ มีความปราถนาดีที่จะแก้ไข"นายสุรงค์ กล่าว
นายสุรงค์ ยังกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ปตท.มีกำไรจากธุรกิจน้ำมันเพียง 1 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้มีกำไรจากธุรกิจการขายกาแฟอยู่กว่า 1,500 ล้านบาท จากกำไรทั้งกลุ่ม ที่มี 1 แสนล้านบาท จึงมองว่า ปตท.ไม่ได้มีกำไรจากธุรกิจน้ำมันมากอย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน
อนึ่ง นายสุรงค์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา