GEL ขายหุ้นเพิ่มทุน PP ให้นักลงทุน 5 รายที่ 0.55 บ./หุ้น จ่าย 12 ก.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 14, 2014 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEL) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 มีมีมติให้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง(Private Placement) 5 ราย จำนวน 1,815 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท โดยเสนอขายที่ราคา 0.55 บาท/หุ้น มาจากการคำนวณราคาปิด 7 วัน ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 0.6078 บาท ซึ่งหากคิดในอัตรา 90% จะเท่ากับ 0.547 บาท

สำหรับนักลงทุนทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย นางสาวพรนที สมพงษ์ชัยกุล ไม่เกิน 445,000,000 หุ้น ไม่เกิน 244,750,000 บาท, นายสันติ เชาวนันทกุล ไม่เกิน 450,000,000 หุ้น ไม่เกิน 247,500,000 บาท ,นายภานุรักษ์ แสงอร่าม ไม่เกิน 280,000,000 หุ้น ไม่เกิน 154,000,000 บาท, นายตรีขนิษฐ์ มากรักษา ไม่เกิน 280,000,000 หุ้น ไม่เกิน 154,000,000 บาท, นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ไม่เกิน 360,000,000 หุ้น ไม่เกิน 198,000,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 998,250,000 บาท ภายในวันที่ 12 กันยายน 2557

ในการพิจารณาจัดสรรนักลงทุนทั้ง 5 ราย ไม่มีส่วนในการบริหารงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตในทุกสายผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แผนการขยายกำลังการผลิตนี้จะทำให้บริษัทสามารถมีกำไรจากผลการดำเนินงานและผลประกอบการอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ และบริษัทยังมีนโยบายที่จะลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างของบริษัท รวมไปถึงธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำในสายธุรกิจเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์หลักนอกเหนือจากการได้รับผลกำไรจากการลงทุนที่ดี คือการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในอนาคตเป็นสำคัญ

แผนธุรกิจของบริษัทข้างต้นส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนระยะยาว เช่นแผนที่บริษัทจะก่อสร้างโรงงานและขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเริ่มดำเนินการและสามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้กับบริษัทได้ หรือแม้แต่การเข้าลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจวัสดุก่อสร้างของบริษัทเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัท จะทำให้บริษัทมีความต้องการที่จะใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ดังนั้นแหล่งเงินทุนก็ควรใช้เงินทุนระยะยาวเช่นกัน ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเพิ่มทุนจะมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากในระหว่างการพัฒนาหรือขยายธุรกิจซึ่งอยู่ในช่วงที่โครงการยังไม่ก่อให้เกิดรายได้บริษัทก็จะได้ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน ประกอบกับการขอสินเชื่อระยะยาวก็กระทำได้ยาก รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงแน่นอนต่อแผนธุรกิจของบริษัทดังที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเงินลงทุนไว้เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนธุรกิจดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงสรุปเลือกวิธีให้มีการเพิ่มทุนของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ