CHO มั่นใจรายได้ปีนี้โตตามเป้ากว่า 15% หลัง Q1/57สวย,มี backlog 1.3 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 15, 2014 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช. ทวี ดอลลาเซียน(CHO) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าแผนการดำเนินงานปี 57 จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน เนื่องจากมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) อยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท และได้ลงนามเซ็นสัญญารับงานเพิ่มกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ให้บริษัทเป็นผู้ผลิตรถพ่วงตู้แห้ง (Dry van Semi-Trailer) ตามสัญญาอีก มูลค่าราว 300 ล้านบาท ซึ่งช่วยหนุนให้งานในมือ (backlog) เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ประมาณ 60 %

“แม้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่บริษัทเล็งเห็นว่างานโลจิสติกส์ในกลุ่มประเภทอาหาร เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และพัสดุต่าง ๆ มีความสำคัญมาก เพราะทุกคนต้องกิน ต้องใช้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม จึงได้มุ่งเน้นขยายตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยงานบริการที่มีระบบการจัดการมาตรฐานสูง รวมทั้งทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความพอใจของลูกค้าอย่างไม่หยุด ส่งผลทำให้บริษัทได้รับงานเข้าอย่างต่อเนื่อง และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเสมอมา" นายสุรเดช กล่าวในที่สุด

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/57 มีรายได้รวมอยู่ที่ 356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 195 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 121% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,504% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากบริษัทมียอดขายตามสัญญาผลิตในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยอดขายในประเทศก็เพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนใช้รถพ่วงตู้แห้ง รถกึ่งพ่วงเพื่อกระจายสินค้าที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน เช่นอาหาร เนื้อสัตว์ ผักสด ต่าง ๆ ไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

“ผลประกอบการในไตรมาส 1/57 เติบโตอย่างโดดเด่น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นขยายตลาดต่างประเทศเข้าไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ที่มีความต้องการใช้รถลำเลียงอาหารสำหรับครัวสายการบิน และวางกลยุทธ์ในประเทศที่เน้นการผลิตและบริการอะไหล่ซ่อมบำรุง ไปยังกลุ่มลูกค้าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจเครื่องดื่ม ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความจำเป็นที่ต้องกระจายสินค้าที่ทุกคนต้องกิน ต้องใช้ ทุกวัน ไปตามภูมิภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่องด้วยเช่นกัน" นายสุรเดช กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ