สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (12 - 16 พฤษภาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม360,639 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 90,160 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 10% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 64% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 231,404 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 81,983 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,361 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 5.1 ปี) LB176A (อายุ 3.1 ปี) และ LB236A (อายุ 9.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 22,627 ล้านบาท 19,443 ล้านบาท และ 10,396 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14814B (อายุ 91 วัน) CB14603A (อายุ 14 วัน) และ BOT171A (อายุ 2.7 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 23,519 ล้านบาท 23,266 ล้านบาท และ 16,081 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT155A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 633 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รุ่น CPF185A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 365 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT14DA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 341 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของตราสารหนี้อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -5 ถึง -9 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยมีสาเหตุจากปริมาณการออกใหม่ (Supply) ของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยตลอดทั้งเดือน พ.ค. จะไม่มีการออกประมูลพันธบัตรรุ่นอ้างอิง (Benchmark Bond) อายุ 5, 10 และ 15 ปี ขณะที่ ยังมีความต้องการลงทุน(Demand) ในพันธบัตรกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง Demand ที่มีมากกว่า Supply เป็นผลทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Yield ลดลง) นอกจากนี้แล้ว การลดลงของ Yield พันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ตามเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯและเข้าสู่ตลาดพันธบัตร ส่งผลให้ Yield ของ 10 Yr – US Treasury ลดลงไปแตะระดับ 2.5% ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับจากเดือน ก.ค. ของปีที่ผ่านมา และมีส่วนทำให้ Yield ของพันธบัตรไทยปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน
นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 5,803 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,131 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 2,672 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 85 ล้านบาท