นายฟิลิป แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAY กล่าวว่า ในปีนี้แม้สภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว แต่ธนาคารมีการปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระแก่ลูกค้าในการชำระหนี้ในอนาคต
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ธนาคารมองว่าปี 57 ระดับ NPL อาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในระยะสั้นนี้ ตลาดสินเชื่อบุคคลจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย หรือ มี Mini boom หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใน 3-6 เดือนนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น และจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 57 ธนาคารจะพยายามรักษาระดับ NPL ไว้ให้ไม่เกิน 2.5%
"คาดว่า NPL ปีนี้จะสามารถปรับขึ้นได้ หากการเมืองสงบนิ่งภายในระยะสั้นนี้ โดยพฤติกรรมการชำระหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับที่ทรงตัว ซึ่งมีสัดส่วน 50% มาจากรายย่อยที่ยังสามารถผ่อนชำระเข้ามาดีอยู่ และคอร์ปอเรต หรือลูกค้ารายใหญ่ยังทรงตัว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุด คือ ลูกค้า SMEs "นายฟิลิป กล่าว
นอกจากนี้ นโยบายการตั้งสำรองหนี้ของธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้ไว้ในระดับที่สูงกว่าทั้งระบบอยู่แล้ว และสูงกว่าหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแนวโน้มการตั้งสำรองในไตรมาส 2/57 คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาหาก NPL มีมากขึ้น
อนึ่ง วันนี้ BAY แถลงความร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายในธุรกิจโลจิสติคส์ โดยมีบริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ ประเทศไทย,บริษัท คังเซน-เคนโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และมาสเตอร์การ์ด ธ.กรุงศรี ซึ่งจะเป็นการร่วมมือที่มุ่งเน้นการรับชำระเงินผ่านทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยในปี 56 ที่ผ่านมามียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร เฉลี่ยต่อวัน 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนธุรกิจของกรุงศรี ควิกเพย์ ปีนี้ จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจขายตรง โดยมองการเติบโตของผู้ใช้สมาร์โฟน แท็บเล็ต และการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการช้อปปิ้งออนไลน์ และธุรกิจขายตรง มีการพัฒนาช่องทางการตลาดผ่านโทรศัพท์มือถือ Mobile Payment หรือธุรกรรมการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยกรุงศรี ควิกเพย์ นอกจากจะรองรับทั้งบัตรเครดิต และบัตรเดบิตแล้ว ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบพัฒนาระบบปฎิบัติต่างๆในการทำ Application Interface หรือการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่น กรุงศรี ควิกเพย์ เข้ากับแอพพลิเคชั่นของร้านค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินให้มีความรวดเร็ว และสะดวก ถูกต้องแม่นยำ การทำบาร์โค้ด สแกนเนอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของร้านค้า
"เรามีความคิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้การชำระเงิน เป็นเรื่องเงินเรื่องง่าย โดยที่ผ่านมาก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจประกัน ธุรกิจยานยนต์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดีจากร้านค้าทั่วไป และล่าสุดวันนี้เราก็ร่วมมือกับ ธุรกิจโลจิสติคส์ โดยมองถึงการเติบโตของการซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการ ที่ต้องมีความทันใจและรวดเร็วแก่ผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 20 กว่าล้านคน ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้"นายฟิลิป กล่าว