สำหรับปริมาณการผลิตของ ปตท. สผ. ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% หรือ จะอยู่ที่ประมาณ 3.3 แสนบาเรลล์ต่อวัน ซึ่งเป็นการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปริมาณการจำหน่ายที่จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% หรรือประมาณ 2.9 แสนบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะแหล่งมอนทาร่า จะสามารถผลิตได้ประมาณ 2.7-2.8 หมื่นบาร์เรล/วัน และยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซอติก้า ที่เริ่มจ่ายก๊าซฯ ให้กับเมียนมาร์ ประมาณ 60-100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ที่จะส่งมายังประเทศไทย ประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน อาจจะเลื่อนออกไปจากไตรมาส 2 เป็นไตรมาส 3 ประมาณเดือนกรกฎาคม เนื่องจากยังมีปัญหาในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ บนบก อย่างไรก็ตาม จะไม่มีผลต่อการจัดส่งก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับ บมจ. ปตท. (PTT) ในการเตรียมแผนรองรับ
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเปิดกว้างให้พันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. โดยเฉพาะแหล่งในประเทศเมียนมาร์ อาทิ แหล่ง MD 7-8 แหล่งบงกช แหล่งมอนทาร่า เป็นต้น เนื่องจากการลงทุนแต่ละแหล่งใช้เงินลงทุนสูง ต้องการผู้ร่วมลงทุน
สำหรับแหล่งในเมียนมาร์ที่ผลิตอยู่ในขณะนี้ คือ แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า ส่วน M3 ขณะนี้สำรวจพบก๊าซฯ แล้ว อยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาที่จะส่งก๊าซฯ ให้ประเทศเมียนมาร์ ส่วนแหล่งที่อยู่หว่างการสำรวจ ได้แก่ ส่วน M11 พื้นที่รอบนอก M9 MD 7-8 EP2 PSCG และ MOG 3 ซึ่ง 3 แหล่งหลังเป็นแปลงบนบก อยู่ในพื้นที่รอบเมืองเนปิดอว์
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังสนใจลงทุนในแหล่งเชลล์แก๊ส และเชลล์ออยล์ โดยอยู่ระหว่างความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยจะต้องศึกษาแบบเจาะลึก โดยการทำ Due diligence เนื่องจากขณะนี้ตลาดก๊าซฯ ทั่วโลกมีความผันผวนมาก การจะเข้าไปลงทุนจึงต้องระมัดระวัง การเข้าไปลงทุนก็ขึ้นอยู่กับโอกาสด้วย โดยจะไม่เข้าไปซื้อหุ้น 100% แต่ละลงทุนในสัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อเข้าไปเพื่อศึกษาเทคโนโลยีในการผลิตเชลล์แก๊ส และเชลล์ออยล์ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ ปตท.สผ. ยังไม่มีความชำนาญ