บอร์ด รฟม.สั่งปรับ TOR รถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่,อ้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday May 25, 2014 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สั่งปรับเงื่อนไขการประมูล(TOR) รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กำหนดเงื่อนไขผลงานย้อนหลัง 3 ปี(Tureover) ให้ใช้เกณฑ์เท่ากันทุกสัญญาหลังถูกผู้รับเหมาร้องเรียน และให้เปิดขายซองรอบ 2 อีก 90 วัน เพื่อความเป็นธรรม คาดสรุปประมูลได้ปลายปี พร้อมเร่ง BMCL ส่งมอบรถสีม่วงได้เร็วขึ้น 1 ปี เพื่อทดสอบระบบราว ธ.ค.58

"ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ปรับปรุงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติ และการให้คะแนน การประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในส่วนของข้อกำหนดรายได้เฉลี่ยจากการก่อสร้างของผู้เสนอราคาย้อนหลัง 3 ปี (Tureover) ในอัตรา 2.5% ของมูลค่าแต่ละสัญญา เหมือนกันทั้ง 4 สัญญา จากเดิมที่ใช้หลักนี้เฉพาะสัญญา1 เท่านั้น และหากคำนวณมูลค่างานย้อนหลังในอัตรา 2.5% แล้วมีเศษ ให้ปัดเศษนั้นขึ้นเป็นจำนวนเต็มหลักร้อยล้านบาท จากเดิมใช้หลักพันล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสามารถอธิบายได้" น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ รฟม.กล่าว

รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับมูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (Net Worth Index Over) ด้วยโดยจะไม่มีการปรับตกจนกว่าจะนำไปรวมกับคะแนนในส่วนอื่น หากไม่ผ่านจึงจถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์

โดยจะใช้เวลาในการปรับปรุงเงื่อนไข TOR ประมาณ 15 วัน จากนั้นจะประกาศขายเอกสารรอบ 2 อีก 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ซื้อเอกสารในรอบแรกสามารถซื้อได้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอและประกาศผู้ได้รัยคำดเลือกได้ประมาณปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งต้องยอมเพื่อความรอบคอบและเป็นธรรม ไม่ปิดกั้นรายใดรายหนึ่ง ยืนยันว่า ไม่ได้ปรับ TOR ตามที่มีผู้รับเหมาร้องเรียน แต่ปรับเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวนประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่าโครงการ 26,569 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด(Provisional Sum) อีก 2,656 ล้านบาท รวมเป็น 29,225 ล้านบาท โดยเปิดขายซองตั้งแต่วันนี้ (2 ม.ค.-15 ม.ค.57) และกำหนดให้ยื่นซองในวันที่ 11 เม.ย.57 แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากมีคำถามจากผู้ซื้อซองเป็นจำนวนมาก และทาง บมจ.ยูนิคฯได้ทำหนังสือร้องเรียนว่า รฟม.กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาไม่เป็นธรรม โดยหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการประกวดราคา และการให้คะแนนที่กำหนดรายได้เฉลี่ยจากการก่อสร้างของผู้เสนอราคาย้อนหลัง 3 ปี ไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

โดยสัญญาที่ 1 งานโยธา ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ มูลค่างาน 14,021 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงสะพานใหม่-คูคต มูลค่างาน 6,126 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ก่อสร้างงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาและอาคารจอดรถ มูลค่างาน 3,709 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 งานออกแบบ จัดหาและติดตั้ง งานระบบรางรถไฟฟ้า มูลค่างาน 2,609 ล้านบาท

น.ส.รัชนี กล่าวว่า กรณีที่บอร์ด รฟม.เดินทางไปตรวจติดตามการบริหารงานระบบรถไฟฟ้าและโรงงานผลิตขบวนรถไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ผู้รับสัมปทานสัญญาที่ 4 งานระบบรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เมื่อวันที่ 7-11 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งหารือร่วมกับประธานและผู้บริหารบริษัทที่รับเหมาช่วงของ BMCL คือ Marubeni Toshiba JR East และ J-TREC เพื่อเร่งรัดงานให้เสร็จก่อนกำหนดและเริ่มทดสอบเดินรถได้ในเดือนธันวาคม 2558 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสครบรอบ 60 พระชนมพรรษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งผู้บริหารทั้ง 4 บริษัท รับรองว่าจะเร่งรัดการส่งมอบรถไฟฟ้าให้เร็วกว่ากำหนดดังกล่าว 1 ปี คือ ส่งมอบช่วงเดือนธันวาคม 2558 จากเดิมส่งมอบปี 2559 ทำให้สามารถเปิดเดินรถได้เร็วขึ้น1 ปี คือประมาณกลางปี 2559

นอกจากนี้บอร์ดยังรับทราบกรณี รฟม.ปรับลดค่าก่อสร้างในงานสาธารณูปโภค ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน สัญญาที่ 1 การออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ลง 58 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 118 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ