สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (19 - 23 พฤษภาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 419,819 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 83,964 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 7% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 66% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 275,924 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 104,468 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 10,036 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 5.1 ปี) LB176A (อายุ 3.1 ปี) และ LB155A (อายุ 1.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 37,644 ล้านบาท 27,852 ล้านบาท และ 7,647 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14821B (อายุ 91 วัน) CB14N20A (อายุ 182 วัน) และ CB14610A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 31,283 ล้านบาท 23,487 ล้านบาท และ 22,105 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC22OA (A+) มูลค่าการซื้อขาย 745 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น THAI155A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 511 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC185A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 492 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของตราสารหนี้อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ +4 ถึง +10 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ภายหลังคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 57 ที่หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) และปรับตัวลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 56 (QoQ) พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือเพียง 1.5 - 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0 - 4.0% จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้วผู้บัญชาการกองทัพบกได้ประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วประเทศตั้งแต่วันอังคารที่ 20 พ.ค. และต่อมาได้ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในวันที่พฤหัสบดีที่ 22 พ.ค. โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปทางการเมือง ก่อนที่จะประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อไปในอนาคต และด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอบวกกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ทำให้นักลงทุนบางส่วนขายตราสารหนี้และเป็นผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (Yield เพิ่มขึ้น)
นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 4,333 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,284 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 2,049 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 26 ล้านบาท