KBANK อุ้ม SME ลดดอกเบี้ยกู้ 3% ยืดหนี้ 6 เดือนพร้อมปล่อยกู้เพิ่ม 7.5 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 3, 2014 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารออกมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เอสเอ็มอี 3 กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนด้วยการลดดอกเบี้ยวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (โอดี) ทุกรายทันที 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคมนี้ และพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือนให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ธนาคารยังได้เตรียมวงเงินกู้อีก 75,000 ล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ใหม่ให้เอสเอ็มอีอื่นที่ได้รับผลกระทบและต้องการเงินลงทุนหรือวงเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายที่ปีแล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบ การลงทุนชะลอตัว ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ทำให้เอสเอ็มอีมีรายได้ลดลงกว่า 40% หลายรายมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่มีกระแสเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ให้คำปรึกษาและพิจารณาช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นของแต่ละราย

ปัญหาที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ทำให้เอสเอ็มอี 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นวงกว้าง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศลดลงเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย การลงทุนของภาครัฐและเอกชนชะลอตัวลง อีกทั้งชาวนาได้รับเงินจากการขายข้าวล่าช้ากว่ากำหนด

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีใน 3 กลุ่มดังกล่าวประมาณ 19,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินเร่งด่วน เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเทียบกับภาระหนี้ที่มีกับธนาคารอยู่ในสัดส่วนที่สูง ประมาณ 15,000 ราย

นายพัชร กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 3% และพักชำระหนี้เงินต้นนาน 6 เดือน จะทำให้ลูกค้าใน 3 กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนมีเงินเพิ่มขึ้นต่อเดือนราว 55% จากภาระหนี้ของธนาคารที่ลดลง ซึ่งลูกค้าสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจได้มากขึ้น และธนาคารเชื่อว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้โดยไม่กระทบกับกำไรของผู้ถือหุ้นเพราะธนาคารจะบริหารจัดการด้วยการลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ของธนาคารทดแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ