บลจ.ฟินันซ่า เสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน คาดผลตอบแทน 2.80%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 4, 2014 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรสีห์ จงไชโย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ. ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทเสนอกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน5 FAM FIPR3M5) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.80% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 3 – 10 มิถุนายน 57

กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์ มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนใน ตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจ ลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นายสุรสีห์ กล่าวว่า เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเดือนเมษายนการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 3.9% ต่อปี จากการผลิตยานยนต์ เบียร์ และกุ้งแช่แข็งที่น้อยลง ส่วนการใช้จ่ายของภาคเอกชนลดลง 0.8% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 4.7% ต่อปี โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ แม้ว่าภาคธุรกิจจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ด้านการส่งออกสินค้ายังคงลดลง 0.9% ต่อปี จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำตามราคาตลาดโลก อีกทั้งปริมาณความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนและอาเซียนยังคงไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้การชุมนุมประท้วงจากม็อบต่อต้านรัฐประหารและการไม่ยอมรับการปกครองแบบทหารจากบางประเทศได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศโดยมีอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ตาม คสช. ได้ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น การเร่งจ่ายเงินโครงการจำนำข้าวของชาวนา และกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการพิจารณาโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนโดยการกระจายความเสี่ยงในกองทุนตราสารหนี้ประเภทครบกำหนดอายุโครงการจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ