อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทไทยคมโดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากความจุช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้นจากดาวเทียมไทยคม 6 และดาวเทียม 2 ดวงใหม่ คือ ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ที่คาดว่าจะปล่อยเข้าสู่วงโคจรในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยความจุช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้นจะสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในการให้บริการแก่ธุรกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศรวมทั้งบริการด้านโทรคมนาคม อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของดาวเทียมบรอดแบนด์ (ไอพีสตาร์) และโครงสร้างเงินทุนที่พอเหมาะในการรองรับการลงทุนในดาวเทียมดวงใหม่ด้วย ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนความต้องการใช้บริการดาวเทียมภายในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมถึงจากกฎระเบียบที่ซับซ้อนในธุรกิจสื่อสารดาวเทียม และค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนก้อนใหญ่สำหรับการลงทุนในดาวเทียมดวงใหม่
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินงานที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับเกินกว่า 50%
บริษัทไทยคมก่อตั้งในปี 2534 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 บริษัทมี บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนเมษายน 2557 ที่ 41% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทให้บริการการสื่อสารด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 3 ดวง โดยเป็นดาวเทียมแบบทั่วไป 2 ดวง คือ ไทยคม 5 และไทยคม 6 และดาวเทียมบรอดแบนด์ 1 ดวง คือ ไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และยังลงทุนในบริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารในประเทศลาว ตลอดจนธุรกิจการให้บริการสื่อด้วย ในปี 2556 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 7,896 ล้านบาท เติบโต 9% จากปี 2555 และอยู่ที่ 2,374 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้ค่าก่อสร้างภายใต้สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 โดยรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปคิดเป็นสัดส่วน 43% ของรายได้รวมในปี 2556 ในขณะที่ดาวเทียม ไอพีสตาร์สร้างรายได้ประมาณ 45% ฐานลูกค้าดาวเทียมทั่วไปของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนฐานลูกค้าดาวเทียมไอพีสตาร์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และจีน
สถานะที่แข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากลักษณะของธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าได้ยาก โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การมีตำแหน่งวงโคจรที่จำกัด เงินลงทุนที่สูง และขั้นตอนของกฎระเบียบที่ซับซ้อน โดยรายได้จากธุรกิจดาวเทียมส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สัญญาเช่าระยะเวลา 3-10 ปี โอกาสการเติบโตในอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศรวมทั้งธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
หลังจากดาวเทียมไทยคม 6 ถูกปล่อยสู่วงโคจรในเดือนมกราคม 2557 จำนวนช่องโทรทัศน์บนดาวเทียมของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 667 ช่อง ณ ปลายเดือนมีนาคม 2557 เปรียบเทียบกับ 465 ช่องในปี 2556 และ 427 ช่องในปี 2554 คาดว่าความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมสำหรับธุรกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศในประเทศไทยจะยังคงแข็งแกร่งซึ่งได้รับแรงหนุนจากหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) และช่องโทรทัศน์ที่มีความละเอียดสูง (High-definition -- HD) ณ เดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีมูลค่างานจากการให้บริการดาวเทียมแบบทั่วไป (รายได้ที่จะรับรู้ในอนาคตตามสัญญาที่มีอยู่) จำนวน 632 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 20,000 ล้านบาท บริษัทวางแผนจะปล่อยดาวเทียมดวงใหม่ คือ ดาวเทียมไทยคม 7 สู่วงโคจรในช่วงกลางปี 2557 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 บริษัทขายช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมไทยคม 7 ล่วงหน้าได้ประมาณ 40% ของความจุทั้งหมดของดาวเทียมไทยคม 7 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อให้บริการด้านการสื่อสารในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทยังคาดว่าจะปล่อยดาวเทียมไทยคม 8 สู่วงโคจรในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 อีกด้วย
บริษัทเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์เพียงรายเดียวในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกโดยเน้นขายช่องสัญญาณ บรอดแบนด์ให้แก่บริษัทโทรคมนาคม ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และโครงการภาครัฐ อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์เพิ่มขึ้นจาก 25.2% ในปี 2555 เป็น 53.4% ในปี 2556 โดยเพิ่มขึ้นจากอัตราการใช้ดาวเทียมไอพีสตาร์ในประเทศจีน ไทย และอินเดียเป็นสำคัญ ในช่วงปลายปี 2556 บริษัทได้ขายช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ทั้งหมดที่จัดสรรสำหรับประเทศจีนหรือคิดเป็น 24% ของช่องสัญญาณทั้งหมดโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าบริการขั้นต่ำและส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากการให้บริการ ทั้งนี้ รายได้จากไอพีสตาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ 1,043 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 808 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นและระดับภาระหนี้สินที่รับได้ ในช่วงปี 2557-2559 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 10,000-12,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากอัตราการใช้ดาวเทียมไทยคม 6 ที่สูงขึ้นและการปล่อยดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 สู่วงโคจรอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (หรือกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่ในช่วง 47%-53% ในช่วงปี 2554-2556 อัตรากำไรจากการดำเนินงานได้รับแรงผลักดันจากการขยายบริการดาวเทียมไอพีสตาร์ อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 45% สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 จากภาระค่าเช่าดาวเทียมอื่นเพื่อให้บริการแทนดาวเทียมไทยคม 6 เป็นการชั่วคราว ในช่วงปี 2557-2559 คาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 45%-48% โดยได้รับแรงหนุนจากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น เงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2556 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,398 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 2,800 ล้านในปี 2555 ในช่วงปี 2557-2559 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะสูงกว่า 40% ในช่วงเดียวกัน
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ประมาณ 35% ในปี 2555 และ 2556 ลดลงจาก 42% ในปี 2554 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 โดยรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนในดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 นอกจากนี้ ยังคาดว่าระดับภาระหนี้สินของบริษัทในช่วงปี 2557-2559 จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น คาดว่าบริษัทจะใช้กระแสเงินสดภายในบางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนเพื่อการลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในระดับไม่เกิน 45% ในปี 2557-2559