PTT คาดได้ข้อสรุปแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในเร็วๆ นี้หรืออาจเปลี่ยนแบรนด์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 6, 2014 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT)เปิดเผยว่าในเร็วๆนี้ บริษัทจะสรุปการตัดสินใจเรื่องการแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน หรือ อาจเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ใช้แทนแบรนด์ ปตท.

แนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากการที่ ปตท.ถูกโจมตีว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาดน้ำมันในประเทศ ทั้งที่ ความเป็นจริงตลาดค้าน้ำมันมีการแข่งขันสูงและมีกำไรน้อย ส่วนราคาขายปลีกที่ปรับขี้นหรือลงก็เป็นไปตามกลไกตลาดที่อ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติหลายรายก็ได้ถอนตัวออกไป เช่น คิวเอท เจ็ท และล่าสุด คือ ปิโตรนัส

ขณะที่ ปตท. มีกำไรจากธุรกิจคัปลีกน้ำมัน ซึ่งรวมธุรกิจ non-oil คือ ร้านอเมซอนและร้านค้าปลีกตามปั้มน้ำมัน รวมประมาณปีละกว่า 1 พันล้านบาท จากกำไรโดยรวมของทั้งเครือ ปตท.ที่ประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะทำยอดขายถึง 3-4 แสนล้านบาทก็ตาม แต่กำไรที่ได้มาน้อยมาก ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันที่ 39% ของตลาดรวมที่มีผู้ค้าจำนวนถึง 41 ราย

"เรามี market share อยู่ 39% เป็นเรื่องที่โจมตีเรา แต่มีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 อยู่ 41 ราย เราไม่ได้ผูกขาด"นายไพรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวคิดแยกธุรกิจก๊าซ รวมทั้งท่อส่งก๊าซด้วย เพราะอนาคตก๊าซในอ่าวไทยหมด ท่อก๊าซก็จะสามารถให้บริการด้านอื่นได้ และต่อไป ปตท.จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งเต็มรูปแบบ หลังจากทยอยแยกธุรกิจต่าง ๆ ออกมาจัดตั้งบริษัทใหม่แยกจากบริษัทแม่ คือ ปตท.

นายไพรินทร์ ยังระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะการมีกองทุนน้ำมันจะช่วยรองรับความผันผวนราคาน้ำมัน และช่วยลดการขาดแคลนน้ำมัน จึงเห็นว่ากองทุนน้ำมันมีบทบาทสำคัญในประเทศไทย แต่หากยกเลิกกองทุนน้ำมันดังกล่าวแล้วมาจัดตั้งกองทุนสำรองทางยุทธศาสตร์ตามที่ IEA เสนอ ก็จะต้องมีคลังสำรองน้ำมัน และระยะเวลาสำรองนาน 90-200 วัน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงนี้เป็นไปตามตลาดโลก หลังจากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมาที่ 104 เหรียญ/บาร์เรล จากก่อนหน้าอยู่ที่ 107 เหรียญ/บาร์เรล

นายไพรินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานเสนอให้การขายก๊าซ LPG กับผู้ใช้ครัวเรือนก่อน และให้ขายราคา LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่ากับราคาที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีราคาต่ำว่า ข้อมูลที่นำมากล่าวอ้างไม่ถูกต้อง เพราะอุตสาหกรมปิโตรเคมีนำก๊าซมาใช้เพื่อผลิตต่อเนื่องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น และมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกขั้นตอน ซึ่งช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนมีงานทำ

นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 กำหนดให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ