สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (2 - 6 มิถุนายน 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม368,468 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 73,694 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 10% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 66% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดหรือประมาณ 241,829 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย(ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง(Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 66,882 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 16,094 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB236A (อายุ 9.0 ปี) LB196A (อายุ 5.0 ปี) และ LB176A (อายุ 3.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 21,705 ล้านบาท 13,434 ล้านบาท และ 9,788 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14904B (อายุ 91 วัน) CB14624A (อายุ 14 วัน) และ CB15409A (อายุ 364 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 28,882 ล้านบาท 26,848 ล้านบาท และ 15,866 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) รุ่น IRPC147A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 3,162 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) รุ่น TOP273A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 931 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)รุ่น CPF17NA (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 713 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(Yield Curve) ของตราสารหนี้อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -2 ถึง -6 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ตามทิศทางของเงินทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายมากขึ้น ประกอบกับความคืบหน้าในการทำงานของทีมที่ปรึกษา คสช.ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2558 โดยล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody's และ Fitch Ratings ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ระดับเดิม ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Yield ลดลง)โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว ในด้านตัวเลขเงินเฟ้อของไทยยังเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. อยู่ที่ 2.62% ถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% หรือสูงที่สุดในรอบ 17 เดือน เงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงถัดไป
นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 9,023 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,583 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 1,560 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 356 ล้านบาท