PTTEP ตั้งงบลงทุนปี 57-59 ที่ 5 พันล้านเหรียญฯ/ปี เพิ่มปริมาณผลิตใน-นอกปท.สู่เป้าหมาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 16, 2014 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สารวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)ปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 3 ปี(ปี 57-59)เฉลี่ยปีละ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะจะเน้นแหล่งเงินลงทุนจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)ที่จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
"เราเพิ่งออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท 1.96 หมื่นล้านบาท และการออกตราสารหนี้กึ่งทุน(Hybrid Bond)วงเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับรวมวงเงินกู้ จึงมั่นใจว่าบริษัทไม่ต้องเพิ่มทุน"นายเทวินทร์ กล่าว

เนื่องจาก ปตท.สผ.มีเป้าหมายจะมีปริมาณผลิต 6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วันในปี 2563 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีปริมาณผลิต 3.3 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ณ วันนี้บริษัทเห็นโอกาสจัดหาได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะผลผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในพอร์ตปัจจุบันสามารถจัดหาได้ประมาณ 70-80% ของเป้าหมาย ส่วนที่เหลืออีก 20% ต้องสำรวจเพิ่มหรือเข้าซื้อแหล่งปิโตรเลียมใหม่

"วันนี้สิ่งที่มีความชัดเจนมากหน่อย คือ ประมาณ 70-80% ว่ามาจากไหน จากพอร์ตที่มีอยู่ปัจจุบัน ส่วนอีก 20% ก็ต้องใช้ความพยาพยาม....การเจาะสำรวจหรือซื้อแหล่งปิโตรเลียมใหม่ และให้ผลตอบแทนที่ดี โครงสร้างเงินทุนเพียงพอใช้ไม่ต้องเพิ่มทุน วงเงินกู้ที่กู้ได้ และ EBITDA จะไม่ทำให้ลงทุนเกินตัว ภายใต้นโยบายรักษา D/E(อัตราหนี้สินต่อทุน)ที่ 0.5 เท่า"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวว่า แหล่งปิโตรเลียมในประเทศ 16 โครงการยังคงเป็นหลักในการผลิต คิดเป็น 80% ของพอร์ตรวม แต่แหล่งในประเทศมีอายุมากแล้ว ผลผลิตที่ได้จึงมีแนวโน้มปรับลดลงในอนาคต โดยแหล่งใหญ่ได้แก่ โครงการบงกช ที่ผลิต 900-1,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน ซึ่งเหลืออายุสัมปทาน 8 ปี โครงการเอส 1 มีปริมาณผลิตน้ำมัน 3 หมื่นบาร์เรล/วัน

"เรามีเป้ารักษาปริมาณผลิตแหล่งในประเทศให้ได้ 2.5 แสนบาร์เรล/วัน ในช่วง 6-7 ปี แต่หวังยากที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ทุกแหล่งน้อยลง โดยธรรมชาติ แหล่งผลิตก็จะค่อยๆน้อยลง...ถ้าจะไปหวังให้สูงกว่านี้ยากมากๆ มีข้อจำกัด"นายเทวินทร์ กล่าว

สำหรับการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณผลิตให้ได้ปริมาณผลิตตามเป้าหมายที่ระดับ 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 63 นั้น บริษัทจะให้ความสำคัญกับแหล่งปิโตรเลียมในพม่ามากที่สุด โดยล่าสุดบริษัทเพิ่งได้สัมปทานแหล่งบนบก ชื่อ MOGE ซึ่งอยู่ระหว่างรอรัฐบาลพม่านัดเซ็นสัญญา ขณะที่ในอินโดนีเซีย มองโอกาสเข้าไปร่วมทุนในแหล่งนาทูน่า ดี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ สัดส่วนราว 15%

ส่วนแหล่งมอนทารา และ cash maple ในออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% อยู่ในขึ้นตอนการพัฒนา

ปัจจุบัน PTTEP มีแหล่งปิโตรเลียม 43 โครงการใน 11 ประเทศ(ณ 2 มิ.ย.57) ณ สิ้นปี 56 ปริมาณสำรอง 846 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

*เปรียบ"พม่า"เป็นบ้านที่สอง

PTTEP ได้เสาะแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณผลิตให้ได้ปริมาณผลิตตามเป้าหมาย โดยบริษัทให้ความสำคัญกับแหล่งปิโตรเลียมในประเทศพม่ามากที่สุด โดยล่าสุดบริษัทเพิ่งได้สัมปทานแหล่งบนบก ชื่อ MOGE อยู่ระหว่างรอรัฐบาลพม่านัดเซ็นสัญญา

ปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมในพม่าที่อยู่ระหว่างสำรวจและพ้ฒนามี 5 โครงการ คือ M3 , M11 , M9 หรือ ซอติก้า, ส่วนโครงการที่ดำเนินงานแล้วคือ ยาดานา และ เยตากุน

นอกจากนี้ มีนโยบายเปิดให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในแหล่งที่บริษัทถือหุ้นใหญ่ 100% คือ แหล่ง MD7 และ MD8 อยู่นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ขณะนี้รอการประมวลผลหลังสำรวจเคลื่อนไหวสะเทือนจึงจะเจรจาพันธมิตรเข้าถือหุ้น หลังจากที่ได้พูดคุยกันในเบื้องต้นบ้างแล้ว ภายใต้หลักการที่ PTTEP จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และน่าจะดำเนินการเจาะสำรวจในปี 59

ทั้งนี้ ทุกแปลงสำรวจในพม่าจะมีพันธมิตรถือหุ้น 10% ซึ่งเป็นเงื่อนไขของทางการพม่า และ PTTEP เตรียมกำลังเจรจากับรายอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันให้เข้ามาถือหุ้นทั้ง 3 แปลง คือ โครงการ MD7 และ MD8, โครงการพีเอสซี จี และ อีพี 2 อยู่ตอนกลางเมียนมาร์ ถือหุ้น 90% และ โครงการ MOGE

"กลุ่มปตท.ยังให้ความสำคัญและมีโอกาสลงทุนในพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและมีบทบาทในไทยมาก เรามีโอกาสร่วมพัฒนา

นอกจากนี้ บริษัทมองโอกาสพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพค่อนข้างดีเพราะอยู่ใกล้แหล่งที่เราผลิตอยู่ คือแหล่งอ่าวไทย เพราะเป็นแนวเดียวกันไปจนถึงใกล้แหล่งบงกช มีแนวโน้มมีโอกาสที่มีศักยภาพทั้งก๊าซและน้ำมัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจจริงจัง

"ถ้าได้สำรวจแล้วมีจริงก็จะนำไปใช้ได้ในกัมพูชาและไทย ฉะนั้น เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่จะเข้าสำรวจ แต่ขึ้นกับรัฐบาลสองประเทศ ตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรและให้ใครทำ ซึ่งหยุดพูดคุย 6-7 ปี"นายเทวินทร์ กล่าว

ขณะที่ในอินโดนีเซีย มองโอกาสเข้าไปร่วมทุนในแหล่งนาทูน่า ดี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ นายเทวินทร์ มองว่า PTTEP มีโอกาสเข้าไปร่วมทุนสัดส่วน 15% และก็จะมีโอกาสนำก๊าซเข้ามายังประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้จะไม่ได้ข้อสรุปเพราะอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง

นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจศึกษาการลงทุนใน Shale Oil Shale gas ทั้งในสหรัฐและแคนาดา แม้ว่าจะนำส่งก๊าซกลับไทยไม่ได้ แต่ก็สามารถสร้างรายได้กลับมาแทน ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจจะไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่และอาจเข้าร่วมทุนกับบริษัทอื่น เพราะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นประเทศใหม่ คือสหรัฐที่บริษัทยังไม่เคยเข้ามาลงทุน แต่หากมีความมั่นใจบริษัทก็จะดำเนินการเอง

*ลั่นไม่มีความจำเป็นขายแหล่งในออสเตรเลีย

นายเทวินทร์ กล่าวถึง แหล่งมอนทารา และ แหล่ง cash maple ในออสเตรเลีย ถือหุ้น 100% ซึ่งแหล่งมอนทาราได้ผลิตน้ำมันแล้วที่ปัจจุบันผลิตที่ 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ส่วนแหล่ง cash maple สำรวจพบก๊าซจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ขณะนี้แหล่งมอนทาราถือว่าไม่มีความเสี่ยงแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรเข้ามาเพื่อลดคตวามเสี่ยง แต่หากวันนี้มีคนสนใจให้มูลค่าที่เป็นธรรม บริษัทก็อาจจะสนใจขายหุ้น เพราะจะทำให้บริษัทได้เงินก้อนหนึ่งมาก่อนแล้วนำไปใช้เงินไปลงทุนอย่างอื่นแทนที่จะรอรายได้กำไรจากแหล่งนี้ที่ต้องใช้เวลานาน

ขณะที่แหล่ง cash maple อยู่ในระหว่างเตรียมการพัฒนาและพบว่ามีปริมาณก๊าซจำนวนมาก ขั้นต่อไปหาตลาด ซึ่งตลาดเมืองไทยรองรับได้อยู่แล้ว โดยคาดว่าจะเจาะเพิ่มอีกหลุมหนึ่งภายในไตรมาส 3/57 จากที่เจาะแล้ว 2-3 หลุม หวังว่าภายในปีนี้จะได้ความชัดเจนจากการเจาะหลุมสำรวจ และ concept การทำ FLNG ชัดเจนมากขึ้น และมีแผนสำรอง (backup plan)ว่า พัฒนาขึ้นมาต่อท่อโรงผลิต LNG ที่มีอยู่แล้ว

"ปตท.สผ.ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขาย ไม่ได้มีความจำเป็นร้อนเงินที่จะต้องขาย ถ้ามีข้อเสนอที่น่าสนใจที่ให้มูลค่าดีก็จะลดความเสี่ยง ซึ่งแหล่งมอนทาราไม่มีความเสี่ยงแล้ว แต่หากมีคนสนใจให้มูลค่าที่เป็นธรรม เพราะถ้าวันนี้บริษัทได้เงินก้อนหนึ่งมาก่อนแล้วนำไปใช้เงินไปลงทุนที่สอดคล้องกับทิศทางได้"นายเทวินทร์ กล่าว

แท็ก (PTTEP)   สหรัฐ   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ