นักลงทุนสถาบันมองหุ้นไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว รอจังหวะขึ้นใน H2/57 รับ Fund flow

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 16, 2014 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวในงานสัมมนา "หุ้นไทย ในมุมมองผู้ลงทุนสถาบัน" ว่า ขณะนี้ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวดีมากขึ้น หลังจากที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ส่งผลบวกต่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าไปได้ ขณะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายที่มีเข้ามามากขึ้น

ขณะที่นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้จะอยู่ที่ 1,480 จุด ซึ่งเป็นระดับเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อช่วงต้นปี และเคยได้ปรับลงในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมาไปอยู่ที่ระดับ 1,290 จุด เนื่องจากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อ ขณะที่ปัจจุบันเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามีบทบาทในการบริหารประเทศ ส่งผลให้ปัญหาทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย และมีการประกาศแผนเศรษฐกิจออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกลับมาดีขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะมีการปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้ไปอยู่ที่ระดับเดิมคือ 2% หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในครึ่งปีหลังนี้ เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 0.8% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมี Fund Flow จากต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างยุโรปและญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และสหรัฐฯยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 0% แม้จะมีการลดขนาดมาตรการ QE ลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดเกิดใหม่   สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ให้ระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากมีการปรับตัวขึ้นไปรับข่าวการเมืองพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ มองว่าจากนี้น่าจะมีแรงเทขายทำกำไร ขณะที่เม็ดเงินลงทุนอาจจะหมุนไปลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยแนะนำ KTB, QH และ BBL ซึ่งราคาหุ้นยังไม่สูงเกินไป

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐเริ่มกลับเข้ามา รวมทั้ง มีการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างอยู่ ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ในระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 57 คาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (EPS) ปีนี้จะเติบโตได้ +/- 5% และในปี 58 จะสามารถเติบโตได้ในระดับ 10% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) คาดว่าจะอยู่ที่ 2-2.5% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเติบโตไม่ถึง 2% และในปีหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในระดับ 4-4.5%

นายสมบัติ แนะนำว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ให้ระมัดระวังแรงขายทำกำไร โดยมีโอกาสของการปรับฐาน หลังจากที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นไป 12-13% โดย กบข.ก็จะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยมองหุ้นที่ได้ประโยชน์จากทางการเมือง เช่น อสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง แบงก์ และค้าปลีก ซึ่งต้องดูเป็นหุ้นรายตัวไปว่าราคาอยู่ในระดับที่น่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่ โดย กบข.ยังสามารถลงทุนได้อีก 4,800 ล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนการลงทุนอื่นๆ ของกบข.ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล 64% หุ้นต่างประเทศ 15% พันธบัตรต่างประเทศ 5% อสังหาริมทรัพย์ 5% ส่วนผลตอบแทนทางการลงทุนของ กบข.ยังคงเป้าหมายผลตอบแทนทั้งปีที่ 5-6% หรือมากกว่าอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเงินฝากที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2-3%

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ มองว่า กนง.จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลง ซึ่งน่าจะคงไว้ในระดับเดิม เพื่อเป็นนโยบายสำรองเอาไว้รองรับในระยะเวลาที่เศรษฐกิจมีความอ่อนแอ

ด้านนายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มลงทุน สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนฯ วางเป้าหมายผลตอบแทนจากการเข้าไปลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ในปี 61 จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5% โดยจะมีการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 1 ใน 3 ของพอร์ตการลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในหุ้นไทยนั้น กองทุนฯ จะเริ่มลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ในสัดส่วน 10% โดยเน้นเป็นหุ้นกลุ่มการแพทย์ กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มอาหาร โดยหากดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,100-1,200 จุด จะเข้าไปลงทุนทันที

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ยังมองว่าต้องมีการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนยังต่างประเทศด้วย คาดว่าจะลงทุนได้ในไตรมาส 2/57 ตั้งเป้าเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท มองไปที่ประเทศยุโรป ซึ่งเชื่อว่ายังมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพอสมควร เน้นหุ้นกลุ่มแบงค์ และกลุ่มเฮลแคร์ (healthcare) และประเทศญุ่ปุ่น จากที่คนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มีขนาดของโรงงานที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีการเก็บเงินสดในจำนวนที่มาก มองว่าในอนาคตจะมีเงินบำนาญเข้ามาซื้อหุ้นผ่านกองทุนมากขึ้น ซึ่งกองทุนฯ สนใจจะลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ