ปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆภายในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันมีความคาดหวังที่จะเกิดความสงบเกิดขึ้นในระยะยาว และอยากที่จะให้มีผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศมีความชัดเจนของนโยบาย แต่โดยส่วนตัวอยากจะให้ ลด ละ เลิก นโยบายประชานิยม เนื่องจากมีผลกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการบริโภคในขณะนี้ เพราะประชาชนนำเงินในอนาคตมาใช้ จึงทำให้ไม่มั่นใจว่าสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้หรือไม่
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ทางธนาคารยังยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเสริมสภาพคล่อง โดยการปล่อยสินเชื่อใหม่ ผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยให้กับกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 1 พันราย เพราะสภาพคล่องและการลดต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญต่อ SMEs
"SMEs ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้มแข็ง เพราะขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้ SMEs แข่งขันยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากยังไม่ปรับตัวอาจทำให้บางรายอยู่รอดได้ยาก"นายโฆสิต กล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ BBL คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันพรุ่งนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ต่อปีตามเดิมไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศคลายแรงกดดันลงแล้ว ประกอบกับ ความเสี่ยงเศรษฐกิจด้านต่างๆ ก็ลดลงพอสมควร จากนี้ต่อไปประเด็นสำคัญคือการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่าจะมีความต่อเนื่องและสามารถผลักดันให้เติบโตได้มากน้อยเพียงใด
และ หากในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น อาจทำให้ในช่วงปลายปีนี้ กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังจากที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE) หมดลง และในปี 58 เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯปรับดอกเบี้ยขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็อาจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้(GDP) คาดว่าจะเติบโตได้ราว 2-3% โดยในไตรมาส 1/57 GDP ติดลบ 0.6% ส่วนไตรมาส 2/57 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ราว 0-1% และขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/57 และไตรมาส 4/57 ในระดับ 3-4% และ 5-6% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาครัฐฯ การลงทุนเอกชน และปัจจัยต่างๆในประเทศที่ดีขึ้น
ขณะที่การส่งออก แม้ว่าคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้แค่ 4% แต่ไม่น่ากังวล เนื่องจากปีนี้จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนและการบริโภคในประเทศเป็นปัจจัยหลัก
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การส่งเสริมการค้าในกลุ่ม CLMV มีความสำคัญเพราะหากนับรวมจำนวนประชากรในกลุ่มนี้แล้วมีมากถึง 250 ล้านคน ซึ่งเท่ากับประชากรของประเทศอินโดนีเซีย และการส่งออกไปในกลุ่มนี้ขยายตัวสูงถึง 12% ในปีที่ผ่านมา สูงกว่าส่งออกไปยังสหรัฐที่มีการเติบโตเพียง 0.6-0.7% ดังนั้น หากประเทศต่างๆใน CLMV เชื่อมโยงกันได้ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพระหว่างกัน
ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญคือที่ผ่านมาสินค้าไทยถือเป็นที่ต้องการอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ดังนั้น หากไทยเพิ่มน้ำหนักไปยังประเทศต่างๆในกลุ่มก็คงจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ด้วย
กรณีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศตนเองจำนวนมากในขณะนี้ เนื่องจากตื่นตระหนกกับข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่าจะมีการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวนั้น นายกอบศักดิ์ เชื่อว่าเป็นเพียงปัญหาในระยะสั้น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ชี้แจงว่าเป็นเพียงข่าวลือ และทางการได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ในระยะข้างหน้าภาวะต่างๆก็น่าจะกลับเข้าสู่ปกติ เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นสำคัญ