ขณะที่จะทำให้สาขาของบริษัทฯเพิ่มขึ้นอีก 8 สาขา ซึ่งจะรวมเป็นทั้งสิ้น 14-15 สาขา ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บริษัทฯมองว่าจะเริ่มปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย มีการจ่ายเงินจำนำข้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยยอด NPL ของธนบรรณ อยู่ที่ 4.5-5% จากเดิมมียอด NPL ที่ 8% ทั้งนี้ยอด NPL จะบันทึกเข้ามากับบริษัทฯหรือไม่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการโอนถ่าย NPL ไปยังบริษัทย่อยของบริษัทฯอย่างแน่นอน
"การซื้อกิจการธนบรรณในครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะเวลาที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของ GL กำลังปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ คสช. ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนในหลายด้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ซึ่งเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อลูกค้าของ GL และในขณะเดียวกัน ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของ GL ในประเทศกัมพูชา ก็รุดหน้าขยายตัวในอัตราก้าวกระโดด ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ด้านนี้ จะช่วยเกื้อหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก" นายมิทซึจิ กล่าว
อนึ่ง ทาง GL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ธนบรรณ จำกัด จำนวน 5,649,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของธนบรรณ รวมมูลค่าไม่เกิน 1.53 พันล้านบาท (รวมหนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมด)จากธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
ขณะที่มองแนวโน้มอุตสาหกรรมบริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในครึ่งปีหลังนี้จะเติบโตได้ 20-30% จากครึ่งปีแรกปรับตัวลดลง 10-15%
นายมิทซึจิ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของผลประกอบการหลังจากเข้าซื้อกิจการนั้น บริษัทฯมองว่าสัดส่วยรายได้จะเพิ่มขึ้น 30% ตามสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 30% ขณะที่ผลประกอบการในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะมีกำไรที่ใกล้เคียงกับบริษัทในประเทศไทยได้ในปี 58
สำหรับการซื้อขายกิจการธนบรรณครั้งนี้ นับเป็น Win-Win สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยสามารถขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ในขณะที่ GL เอง ไม่เพียงแต่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้ว ยังสามารถใช้ฐานข้อมูลและเครือข่ายลูกค้าของธนบรรณในการขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจรถจักรยานยนต์แลกเงินสด และสินเชื่อรถจักรยานยนต์มือสอง ที่มีมาร์จินการทำกำไรสูงกว่าธุรกิจเช่าซื้อ
“สำหรับ GL เอง การซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจเชิงรุก โดยปกติแล้ว เราต้องลงทุนเป็นอย่างมากในการสร้างพอร์ตสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่เท่ากับธนบรรณ แต่ในกรณีนี้ เราควบรวมพอร์ตสินเชื่อของธนบรรณมูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย" นายมิทซึจิ กล่าว
ผลประโยชน์ที่เด่นชัดอีกส่วนหนึ่งสำหรับ GL คือโอกาสการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในต่างจังหวัด โดยอาศัยฐานข้อมูลและเครือข่ายลูกค้าของธนบรรณ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่มองว่า ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศไทยมีศักยภาพขยายตัวได้อย่างมหาศาล แถมยังมีมาร์จินการทำกำไรที่สูงกว่า
นอกจากนี้บริษัทฯยังคงมองหาการลงทุนในธุรกิจอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ก็มีการเจรจากับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และไมโครไฟแนนซ์ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าจะมีการลงทุนหรือไม่และในรูปแบบใด
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/57 คาดว่า จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่บริษัทฯมีผลกำไรที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในเกณฑ์ที่สูงมาก เนื่องจากเป็นผลของการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง โดยมองว่าผลประกอบการต่อจากนี้ไปจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัทฯโดยตรง ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของทุกปี จะเป็นปีที่ดีที่สุดซึ่งผลกำไรที่ผ่านมามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าการที่เข้าไปซื้อกิจการบริษัท ธนบรรณ เข้ามาจะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ