บอร์ด ตลท.เล็งเสนอตั้งคณะศึกษาแผนปฎิรูปภาษีตลาดทุนไทยต้น ก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 19, 2014 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงษ์ กรรมการบริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับประธาน ตลท.เพื่อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแผนปฎิรูปภาษีตลาดทุนไทย เพื่อศึกษาแนวทางทั้ง 1.การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงหรือไม่ควรจัดเก็บเกินอัตรา 25% จากเดิม 28% 2.ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลือ 25% จากเดิม 35% และ 3.พิจารณาให้เก็บภาษี Capital Gain ของบุคคลที่ถือหุ้นน้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยเก็บภาษีในอัตราต่ำ 5-10% แต่หากมีผลขาดทุนให้หักไปได้ โดยเก็บภาษีผ่านโบรกเกอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค.57 และจะใช้เวลาในการศึกษาราว 3 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อตัวแทนทั้ง 7 องค์กรภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาตลาดทุนไทย เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินการปฎิรูป โดยเบื้องต้นจะมีการนำเสนอต่อ ตลท.เป็นแห่งแรกภายในเดือน ก.ค.นี้

จากนั้นจะนำเสนอเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งใช้กรอบระยะเวลาอีก 3 เดือน โดยจะต้องเสนอต่อคณะรักษารักความสงบแห่งชาติ(คสช.)หรือหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะนำเสนอเพื่อส่งต่อไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายและมีการบังคับใช้ต่อไป

"จากที่ได้มีการเขียนหนังสือในเรื่องของแผนปฎิรูปให้ลดอัตราภาษี ทั้งลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดภาษีบริษัท ลดภาษีเงินปันผล เพื่อให้ภาษีไทยแข่งขันกับต่างประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 28% ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 17% สิงคโปรไม่มีภาษีเงินปันผลและไม่มีการเก็บภาษีที่ได้จากกำไรในการซื้อขายหุ้น (Capital Gain) ซึ่งก็ได้ระบุไปว่าอาจจะต้องมีการพิจารณาเก็บภาษี Capital Gain ของบุคคลที่ถือหุ้นน้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ 5-10%

ประเด็นดังกล่าวที่เสนอผ่านบทความในหนังสือมีระยะเวลาผ่านมาแล้ว 10 ปี และก็ได้มีการเสนอไปยัง 7 องค์กรภาคเอกชนแต่เรื่องก็เงียบไป ซึ่งเมื่อวานก็ได้มีการหารือกับประธานตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับแรื่องดังกล่าวว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแผนปฎิรูปขึ้น เพื่อศึกษาเรื่องข้อกฎหมายภาษีว่าจะทำอย่างไรได้บ้างในระยะเวลาที่เหลือนี้ซึ่งยังอยู่ในภายใต้การดำเนินงานของคสช. ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นโอกาสเดียวที่เราจะทำได้" นายกิติพงษ์ กล่าว

ขณะที่เมื่อมีการเสนอขอความร่วมมือให้ลดอัตราภาษีดังกล่าว จะต้องมีการเพิ่มภาษีอย่างอื่นให้กับรัฐบาลด้วย อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรที่จะยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้กับบริษัทที่ขอสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนว่าควรจะเป็นบริษัทเฉพาะหรือไม่ เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทข้ามชาติที่ไม่เสียภาษีเป็นระยะเวลา 8 ปีเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ