คดีนี้ผู้ถูกฟ้องอ้างว่าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยทำมาหากินอยู่บริเวณแม่น้ำโขง โดยได้อาศัยกันอยู่เป็นชุมชน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่เชื่อมโยงผูกพันกับแม่น้ำโขงมาหลายชั่วอายุคน นับแต่ครั้งอดีตตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม่น้ำโขงจึงมีความสำคัญต่อผู้ฟ้องคดีและประชาชนในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ซึ่งการศึกษาระบุว่าการประมงแม่น้ำโขงเป็นการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าขั้นต้นปีละ 7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ แม่น้ำโขงยังเป็นแหล่งอาชีพเกษตรกรรมและร่อนทอง แหล่งลำเลียงสินค้า การท่องเที่ยว และประเพณีวัฒนธรรม
ขณะที่ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง การทำสัญญาซื้อไฟฟ้า(Power Purchase Agreement:PPA) ของ กฟผ.จึงถือเป็นโครงการของรัฐประเภทหนึ่ง เมื่อ กฟผ.ดำเนินโครงการใดๆ ในการประกอบกิจการของตนแม้จะเป็นเพียงสัญญา แต่หากสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรัฐประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ย่อมต้องถือว่าการดำเนินการนั้นๆ เป็นโครงการของรัฐ ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้ว หากเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการซื้อไฟฟ้าซึ่งถือเป็นกิจการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติแล้ว การดำเนินกิจการดังกล่าวยังต้องถูกควบคุมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยการประกอบกิจการหรือการดำเนินโครงการแห่งรัฐ
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาวของ กฟผ., ให้ผู้ถูกฟ้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งแจ้งข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี และ ให้ยกเลิกมติ กพช.และมติ ครม.ที่อนุมัติให้ กฟผ.ดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี
ศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปที่มิได้อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ฟ้องจึงมีสิทธิมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน และสิทธิดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสมตามมาตรา 66 และมาตรา 67 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ผู้ฟ้องจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ภถูกฟ้องทั้งห้า และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ได้รับจำเป็นต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือมติของรัฐบาล
"จึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คนเฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น" คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระบุ
ถึงแม้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วก็ตามแต่เป็นการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง กรณีถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองย่อมมีอำนาจที่จะรับคดีไว้พิจารณาได้ การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พพิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ศาลฯ ยังไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้าดังกล่าว