ธนาคารวางทิศทางในครึ่งปีหลังด้วยการขยายฐานลูกค้า SMEs รายเล็กเข้ามาในพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มเติมจากเดิมที่พอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกขนาดกลางและขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ธนาคารจะใช้จุดเข็งด้านเครือข่ายทั่วอาเซียนของกลุ่ม CIMB เข้าไปช่วย SMEs เตรียมความพร้อมขยายตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เนื่องจากการเกิดขึ้นของ AEC ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่เท่านั้น
และธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ "สินเชี่อไวจัง"เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจเพิ่มความคล่องด้วยวงเงินหลากหลายผ่อนสบายรู้ผลเร็วใน 7 วันทำการ เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงิน 3 แสนบาท-20 ล้านบาท และ"สินเชื่อไวจัง...เยอะจริง"เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนด้วยวงเงินสูง 3 เท่าของมูลค่าหลักประกันรู้ผลเร็วภายใน 7 วัน ทำการ อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 เท่า วงเงินตั้งแต่ 1.5-10 ล้านบาท
"ผลิตภัณฑ์ใหม่ของธนาคารทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์มียอดการปล่อยสินเชื่อในเดือนแรกของการ soft launch ในเดือนมิ.ย.กว่า 1 พันล้านบาท จากเป้าปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 2 พันล้านบาทภายในปีนี้ พร้อมมองธุรกิจที่มาแรงในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการเกษตร"นายจิรัชยุติ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 พอร์ตสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจของ CIMBT อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 5.5 หมื่นล้านบาท และยังมีสินเชื่อที่รอการทำสัญญาและอนุมัติจากธนาคารอยู่อีกราว 8 พันล้านบาท
"พอร์ตสินเชื่อธุรกิจรวมในปีนี้ก็คงจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 5.5 หมื่นล้านบาทแน่นอน เพราะ 5 เดือนแรกพอร์ตเราอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้วที่ 4.3 หมื่นล้านบาท แต่ที่ Volume เพิ่มขึ้นไม่เยอะมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังไม่ดีจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยการเมือง แต่ครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากลูกค้าเรามีการเข้ามาคุยเรื่องแผนธุรกิจในครึ่งปีหลังมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังคงจะดีขึ้น"นายจิรัชยุติ์ กล่าว
ธนาคารตั้งเป้าขยายสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ภายใน 3 ปีเป็น 15% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 5% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 95%
"การที่เราตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 15% ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้เรามีสัดส่วนลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่อยู่ที่ 95% แต่อย่างไรก็ตามการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีบริษัทก็ยังมีความเข้มงวดในระดับนึงอยู่เช่นกัน"นายจิรัชยุติ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ใน 5 เดือนแรกธนาคารยังสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของสินเชื่อ SMEs อยู่ที่ต่ำกว่า 1% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกิน 2%