AMATA เผยกลุ่มทุนตปท.จ่อคิวซื้อที่ดินเพิ่ม คาดยอดขายปีนี้สูงกว่าปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 2, 2014 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการบริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเจรจาเพื่อซื้อที่ดินทั้งในส่วนของ นิคมฯอมตะนคร และ ชิตี้ รวม 700-800 ไร่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มทุนจากจีน ประมาณ 500 ไร่ และในส่วนนี้จะมีนักลงทุนรายใหญ่ของจีนที่ต้องการซื้อพื้นที่ จำนวน 120 ไร่ ส่วนที่เหลือราว 100-200 ไร่ จะเป็นของกลุ่มทุนจากยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมที่เข้ามา จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 60-70 % ซึ่งมองว่าไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญติดอันดับ1ใน10 ของโลก รวมทั้งยังมีความน่าสนใจในเรื่องของตลาดการลงทุนที่จะมีอัตราการเติบโตในอนาคต
"เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ยุโรปตัดสินใจมาลงทุนในไทยครั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ประกอบกับตลาดมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ในปี 2558 ทำให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์การลงทุนที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศยังมีปัญหาทางการเมืองที่ยังขาดเสถียรภาพ แต่ด้วยเหตุที่นักลงทุนในยุโรป และอเมริกามีความเข้าใจในสถานการณ์ของแต่ละประเทศดี สามารถแยกออกระหว่างปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจได้"นายวิบูลย์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายยอดขายพื้นที่ดินในปีนี้ ยังไม่สามารถกำหนดได้ขณะนี้ เนื่องจากต้องรอข้อสรุปในทิศทางต่างๆ โดยเฉพาะการกำหนดแผนของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และโรดแม็ปที่จะออกมาเพื่อเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการประเมินทิศทางการลงทุน และการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาในระยะต่อไปอีกด้วย

"ขณะนี้ทิศทางตลาดการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเริ่มสดใสมากขึ้น ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีจำนวนนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเจรจา และติดต่อซื้อขายที่ดินมากขึ้นทั้งรายเก่า และรายใหม่ โดยภาพรวมในปีนี้น่าจะมียอดขายที่ดินมากกว่าปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 1,008 ไร่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มียอดขายที่ดินแล้ว 178 ไร่ ขณะนี้มีลูกค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน"นายวิบูลย์กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากต่างประเทศกลับเข้ามาอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มทุนยุโรป อเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น ซึ่งมาจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลาย ประกอบกับมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)ชุดใหม่ ที่ได้มีการอนุมัติโครงการการลงทุนไปแล้วที่ 1.2 แสนล้านบาท และยังมีโครงการที่พิจารณาค้างอยู่อีก 5.8 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลดีกับทิศทางการลงทุนในช่วงต่อไป และเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่มั่นใจว่าหลังจากนี้จะเริ่มทยอยกลับเข้ามาติดต่อและเจรจา เพื่อซื้อที่ดินในนิคมฯอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ