(เพิ่มเติม) SOLAR แจงแม้ยุติ Solar Roof Top ไม่กระทบ เน้นรับงานเอกชน-ตปท. มั่นใจรายได้โตตามเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 2, 2014 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โซลาร์ตรอน(SOLAR) ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีมติให้ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ 23 โครงการ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท และจะยุติบางโครงการ เช่น Solar Roof Top ศาลากลาง 74 จังหวัด มูลค่า 1.8 พันล้านบาท และโครงการประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการอื่นๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีคำสั่งซื้อในมือมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านบาท อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาเน้นการรับงานต่างประเทศและยังมีโอกาสได้รับงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ที่ยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ

"เราไม่กระทบเพราะเรารู้แล้วว่าต้องมีการจัดระเบียบสังคม แต่ถามว่าการทบทวบโครงการจะยกเลิกไปเลยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ ก็คิดว่าก็คงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบในโครงการภาครัฐ ซึ่งเรากำลังบอกว่าเราเป็นผู้ผลิตและส่งออก ขณะเดียวกันเราก็มีการรับงานภาคเอกชนด้วย เพราะว่าตอนนี้ถ้าติดตั้งหลังคาขนาด 1,000 กิโลวัตต์ลงไปไม่ต้องรายงานใบ รง.4 ฉะนั้นงานภาคเอกชนก็ยังมีอีกมาก และงานภาครัฐถ้าหากยังจัดระเบียบสังคมไม่เสร็จ เราก็ไม่ได้กระทบแต่อย่างใด"นางปัทมา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเข้ามาจัดระเบียบของ คสช.จะช่วยส่งผลดีต่อตัวบริษัท เนื่องจากนโยบายของ คสช.เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทย ไม่ได้เน้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าไทยมากขึ้น

นางปัทมา กล่าวอีกว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,386.25 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/57 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากการทยอยรับรู้รายได้ของการผลิตและส่งออกแผงและแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์บางส่วน ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มที่ในช่วงไตรมาส 3/57 รวมถึงรับรู้รายได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)ของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) เข้ามาอีกด้วย

นางปัทมา กล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3/57 เป็นต้นไปจะส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ไปยังประเทศยุโรป หลังจากขยายกำลังการผลิตในส่วนของแผ่นเซลล์ฯเพิ่มเป็น 190 เมกะวัตต์ จะเดิม 70 เมกะวัตต์ และแผงเซลล์ฯ เพิ่มเป็น 190 เมกะวัตต์ จากเดิม 70 เมกะวัตต์เช่นกัน ใช้งบลงทุนราว 700 ล้านบาทและยังมองโอกาส่งออกไปยังตลาดสหรัฐด้วย ประกอบกับบริษัทยังมีศักยภาพรับงานภายในประเทศเพิ่มเติม จากที่มีประสบการณ์สร้างโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์มาแล้ว

พร้อมกันนี้ บริษัทฯมีแผนขยายการลงทุนไปยังลาว พม่า และกัมพูชา เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 58 โดยมองว่าเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีศักยภาพเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะลาวที่มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้เวียดนามและไทย ขณะที่พม่า จากการเข้าไปสำรวจเบื้องต้นเห็นว่าเมืองมัณฑะเลย์และเมียวดียังคลาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งน่าจะมีโอกาสในการลงทุนได้อีกมาก

"ในอนาคตอันใกล้นี้เราก็คงขยายทั้งกำลังการผลิตโดยใช้แผงของเราเอง ขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าไปก่อสร้างในรอบๆประเทศของเรา และเราก็มีแผนรองรับกำลังการผลิตทั้งส่งออกและโปรเจกต์ ขณะที่ปัจจุบันเรามีการส่งออกไปยั่งประเทศยุโรป แต่เราก็มองตลาดอเมริกาไว้ด้วย คาดว่าจะเริ่มส่งออกไปอเมริกาได้ในปีหน้า ซึ่งตลาดอเมริกามีความต้องการจำนวนมาก อย่างเช่น กองทัพก็ต้องติดตั้งแผง 3 กิกกะวัตต์ โดยปฏิเสธแผงจากจีนและใต้หวัน ฉะนั้นเราจึงมองว่าตลาดต่างประเทศยังเป็น Blue Ocean (บลูโอเชี่ยน) อยู่จำนวนมาก แต่ต้องเป็นแผงคุณภาพ ซึ่งเราก็เป็นแผงที่ได้มาตรฐานโลกอยู่แล้วที่สามารถผ่านเข้าไปในประเทศยุโรป และอเมริกาได้"นางปัทมา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ