ธนาคารกำหนดวันเสนอขายในวันที่ 7 ก.ค. 2557 โดยเป็นการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศมาเลเซียทั้งจำนวน แต่จากการสำรวจความต้องการซื้อตราสาร (Book building) พบว่ามีผู้สนใจจองซื้อเข้ามาเกินกว่า 2.5 เท่าของปริมาณเสนอขายทำให้ธนาคารขยายวงเงินเสนอขายจากเดิม 250 ล้านริงกิต เป็น 400 ล้านริงกิต หรือเทียบเป็นสกุลเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
กลุ่มผู้ลงทุนที่ลงทุนในตราสารชุดนี้ ประกอบด้วย บริษัทประกันในสัดส่วน 25% บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 39% กองทุนส่วนบุคคล 33% และธนาคาร 3%
ทั้งนี้ ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซิล 3 ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในครั้งนี้ เสนอขายโดยมีกลุ่มซีไอเอ็มบีเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ตราสารได้รับการจัดอันดับ AA3 จาก RAM Rating Services Berhad
"การออกตราสารด้อยสิทธิครั้งนี้ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นับเป็นครั้งแรกของธนาคารต่างประเทศที่ออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิตามเกณฑ์บาเซิล 3 ในประเทศมาเลเซีย ท่ามกลางความท้าทายของประเทศผู้ออก ธนาคารรู้สึกยินดีกับผลตอบรับที่ดี และมีความต้องการจองซื้อเข้ามาเกินปริมาณที่ตั้งไว้ และขายในราคาต้นทุนที่น่าพอใจอีกด้วย ธุรกรรมนี้ที่ประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งเกิดจากตลาดตราสารหนี้ประเทศมาเลเซียที่พัฒนาไปมาก ความสามารถของกลุ่มซีไอเอ็มบีในการอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย และส่วนสำคัญคือความความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และประเทศไทย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และกลุ่มซีไอเอ็มบี มีความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อให้บริการและเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ" นายสุภัค กล่าว