นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษามีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนจำนวนไม่น้อย ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุน ก.ล.ต. มุ่งสนับสนุนให้งานวิจัยคุณภาพดีเหล่านี้ ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน จุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมตลาดทุน ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง บริษัทจดทะเบียน ผู้ต้องการระดมทุน และผู้ลงทุน นำผลงานทางวิชาการต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง ก.ล.ต. หวังให้ความร่วมมือนี้ สร้างโอกาสและเวทีเพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิชาการ ด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจในตลาดทุน
บันทึกความตกลงนี้ จะนำไปสู่การจัดประชุมเสนอผลงานวิจัย 4 สถาบัน โดยแต่ละสถาบันจะเสนอประเด็นหลักที่ต้องการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็น โดยจะคัดเลือกผลงานวิจัยที่โดดเด่น เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น ประเด็น “การออมเพื่อการเกษียณอายุ"โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “จับสัญญาณลงทุนหุ้นจากหุ้นกู้" โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็น “สำรวจสุขภาพบริษัทจดทะเบียน" โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประเด็น “Sustainability Development for Thai Economy and Financial Market" โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยแต่ละครั้ง จะมีคณาจารย์และสถาบันที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
รองศาสตราจารย์ พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเข้าร่วมการสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับ ก.ล.ต. และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม ผลักดันการพัฒนาทางด้านงานวิชาการของสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งเป็นการนำความรู้ทางด้านวิชาการของสถาบันการศึกษาออกสู่สังคมและภาคธุรกิจมากขึ้น อันจะเกิดประโยชน์กับสังคมไทยโดยรวม ทางคณะฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อ ก.ล.ต. ในการเป็นแกนหลักในการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ และมั่นใจว่าเครือข่ายทางวิชาการนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ก.ล.ต. และสังคมไทยโดยรวม
ศาสตราจารย์ ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติในการเข้าร่วมการสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับ ก.ล.ต. และมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของประเทศ โดยมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างเวทีเสวนาที่มีทั้งนักวิชาการและนักการเงินมาร่วมให้ข้อคิดเห็น จะช่วยปรับปรุงงานวิจัยให้มีคุณภาพมากขึ้นแน่นอน โดยในเดือนสิงหาคมศกนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนำเสนองานวิจัย 2 ชิ้น โดยเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ข้อคิดนักลงทุนในการจับสัญญาณการลงทุนในหุ้น ด้วยการพิจารณาหุ้นกู้ของบริษัท
รองศาสตราจารย์ ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ ก.ล.ต. ที่ให้เกียรติทางคณะฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SEC Working Papers Forum ทางคณะฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสให้ร่วมสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านตลาดทุนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และเชื่อว่าโครงการฯ นี้จะเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านตลาดทุนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกองค์กร พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยและการกำกับดูแลที่ดีของ ก.ล.ต. ให้ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจาก ก.ล.ต.ให้เข้าร่วมฟอรัมนี้ และเราเชื่อมั่นว่า จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ในโอกาสที่นิด้าจะครบรอบ 50 ปี เราได้กำหนดหัวข้อหลักเป็นเรื่อง“Sustainability Development for Thai Economy and Financial Market" ที่เป็นความร่วมมือจากทุกคณะในนิด้ากับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และเราจะนำผลงานวิจัยหัวข้อนี้ มานำเสนอในฟอรัมนี้เป็นเวทีแรก
โครงการ SEC Working Papers Forum เริ่มเปิดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยเป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 ภายใต้ประเด็น “การออมเพื่อการเกษียณอายุ"โดยคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม 1601 ชั้น 16 อาคารสำนักงาน ก.ล.ต. ถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยในประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน โดยมีสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่งหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ก.ล.ต.