นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2557 บริษัทยังเปิดเสนอขายอีก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน เอดี (KEFF6MAD) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 2.70% ต่อปี กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 6 เดือน ซีเอฟ (KFI6MCF) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 2.60% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3 เดือน อีเอ็ม (KFI3MEM) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่าย กองทุนที่ 2.40% ต่อปี โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับตราสารหนี้ที่กองทุน KEFF1YT จะเข้าไปลงทุนในเบื้องต้นประกอบด้วยเงินฝาก China Construction Bank Corporation เงินฝาก Bank of China ร่วมด้วยตราสารหนี้ Banco ABC Brasil S.A., ตราสารหนี้ Banco Santander (Brasil) S.A., ประเทศบราซิล และตราสารหนี้ BTG Investments LP ที่ค้ำประกันโดย BTG Pactual Holding S.A., ประเทศบราซิล ด้านกองทุน KEFF6MAD จะลงทุนในเงินฝากของ China Construction Bank Corporation เงินฝาก Bank of China ร่วมด้วยตราสารหนี้ VakifBank, ตราสารหนี้ Akbank T.A.S., ประเทศตุรกี และตราสารหนี้ BTG Investments LP ที่ค้ำประกันโดย BTG Pactual Holding S.A., ประเทศบราซิล
ทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ในการลงทุนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 1,000,000 บาท
ด้านกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี ที่เสนอขายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ส่งผลให้มียอดจองซื้อเข้ามาจนเต็มมูลค่าโครงการกว่า 3,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อ บลจ.กสิกรไทย ในฐานะผู้คัดสรรตราสารหนี้ที่มีคุณภาพใหม่ๆ เข้ามานำเสนอเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำแต่ยังคงให้โอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทั่วไปที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการลงทุนกับตราสารหนี้ภายในประเทศเพียงอย่างเดียว บลจ.กสิกรไทย ขอแนะนำกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 6 เดือน ซีเอฟ (KFI6MCF) และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3 เดือน อีเอ็ม (KFI3MEM) โดยกองทุน KFI6MCF เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation เงินฝาก Bank of China นอกจากนี้ยังลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทยของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารทิสโก้ และธนาคารธนชาต
ด้านกองทุน KFI3MEM เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation และเงินฝาก Bank of China ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทยของธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทิสโก้ โดยตราสารที่กล่าวมามีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท