ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 18/2557 อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทขึ้นอีกจำนวน 8,209,037,422.95 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 11,614,597,115.13 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 19,823,634,538.08 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 3,614,411,191 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1.07 บาท พร้อมออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท(SIRI-W2) จำนวนไม่เกิน 3,614,411,191 หน่วยให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ์ โดยกำหนดใช้สิทธิ์ภายใน 7 ตุลาคมนี้
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของแสนสิริในช่วงต่อไป บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจมีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จภายใต้แผนงาน “Engineer or Growth" ซึ่งประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรกคือ การแสวงหาโอกาส ทั้งโอกาสจากปัจจัยบวกในด้านต่างๆ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้นตามลำดับ, อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1, อัตราดอกเบี้ยซึ่งยังอยู่ในแนวโน้มที่ค่อนข้างคงที่ ขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มในการปล่อยสินเชื่อที่ดีขึ้น นำมาสร้างประโยชน์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ การโฟกัสในโปรดักส์และทำเลที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ด้วยการบริหาร portfolio ของโครงการทั้งหมดให้มีความสมดุลมากขึ้น อาทิ การปรับสัดส่วนของโครงการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็น 80% : 20% ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับแผนที่วางไว้โดยตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นยังนับว่ามีอีกหลายทำเลที่มีดีมานต์ชัดเจน แต่บริษัทยังขยายการพัฒนาโครงการไปไม่ครอบคลุมอย่างเต็มที่ อาทิ กรุงเทพฯ โซนเหนือ, โซนตะวันออก และโซนตะวันตก นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับโครงสร้างสัดส่วนรายได้ที่มาจากประเภทโครงการที่มีอยู่ใน portfolio ทั้งหมดใหม่ ทั้งสัดส่วนโครงการแนวราบและแนวสูง และสัดส่วนรายได้ที่มาจากโครงการในแต่ละระดับราคา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมากที่สุด
ประการที่สอง การปรับกลไกภายในองค์กรให้สอดคล้องกับโอกาสในการสร้างประโยชน์สูงสุด โดยมีกลไกซึ่งบริษัทมองว่าต้องมีการจัดการโดยเน้นประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ อัตรากำไรเบื้องต้นที่ต้องทำให้ดีขึ้นอีก, ประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายสนับสนุนการขาย และประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่าย Admin อาทิ กระบวนการทำงานที่ต้องดำเนินการแบบสอดคล้องประสานกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ทั้งฝ่ายออกแบบ ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายก่อสร้างที่ต้องร่วมกันควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด ซึ่งจะทำให้เกิด Standardised Design หรือการปรับแต่งงานออกแบบโดยยึดจาก platform เดิม อันจะช่วยสร้างความชำนาญและแม่นยำ ส่งผลให้งานก่อสร้างมีประสิทธิผลมากที่สุดทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ ความรวดเร็ว และความสวยงาม
และประการที่สาม การมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง