สำหรับการเจรจาซื้อเหมืองถ่านหินอีก 3 แห่งตามแผนงานที่กำหนดไว้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหาแหล่งทุนที่คาดว่าจะต้องใช้ราว 150-160 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะใช้กำไรของบริษิทหรือเงินกู้จากสถาบันการเงิน
นายขจรพงศ์ คำดี กรรมการผู้จัดการ EARTH เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% เนื่องจากปริมาณการขายถ่านหินน่าจะทะลุเป้าหมายไปที่ 9.5 ล้านตัน จากเดิมไว้ที่ 9 ล้านตัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณขายแล้ว 4.5 ล้านตัน และขณะนี้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว 5 ล้านตันสำหรับการขายในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่วนในปีหน้าบริษัทฯตั้งเป้าปริมาณการขายจะเพิ่มเป็น 10 ล้านตัน แต่อาจจะมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/57 หากราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่กำไรสุทธิปีนี้คาดว่ามากกว่าปี 56 ที่ทำได้ราว 1.1 พันล้านบาท ตามปริมาณการขายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ราคาถ่านหินก็สูงขึ้นด้วย โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 56-58 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ขณะที่ทั้งปีคาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน จากปี 56 ราคาฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
“เรามองว่ารายได้ปีนี้คงจะเติบโตขึ้นมากกว่า 30% เนื่องจากปัจจุบันมีออเดอร์ของครึ่งปีหลังแล้วกว่า 5 ล้านตัน หากรวมกับครึ่งปีแรกก็ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ในขณะที่ปีหน้าเราตั้งเป้าปริมาณการขายจะอยู่ที่ราว 10 ล้านตัน แต่อาจจะมีการปรับเป้าหมายใหม่ได้ เพราะเรามีการขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ๆเพิ่มขึ้น และหากราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาราคาเรามองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอยู่ ซึ่งหากราคาสูงขึ้นเราก็จะขายเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันหลังจากที่ปริมาณการขายทะลุเป้าหมาย และราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเราก็คาดว่าทั้งปีกำไรก็จะมากกว่าปีก่อนแน่นอน" นายขจรพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีการจำหน่ายถ่านหินในประเทศสัดส่วน 30% ที่เหลืออีก 70% เป็นตลาดจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งบริษัทฯมีเป้าหมายที่เพิ่มตลาดต่างประเทศให้เป็นอย่างน้อย 5 ประเทศภายในปี 58 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่สนใจซื้อถ่านหินในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และฮ่องกง มองความเป็นไปได้ที่จะเจรจาสำเร็จก่อนคือรายในใต้หวันและฮ่องกง
นายขจรพงศ์ กล่าวอีกว่า ภายใต้แผนงานที่จะมีการขยายการถือหุ้นในเหมืองถ่านหินเพิ่มเป็น 5 เหมือง จากที่อยู่ 2 เหมืองนั้น บริษัทได้มีการเจรจาไว้ทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนราว 150-160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อเหมือง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้ซื้อเครื่องจักรราว 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่บริษัทอยู่ระหว่างหาแหล่งที่มาของเงินทุน มองไว้ 2 ทาง คือ ใช้กำไรจากการดำเนินงาน และการกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ
“เราอยู่ระหว่างหาแห่งที่มาของเงินทุนเพื่อที่จะซื้อเหมืองให้ได้ 5 เหมืองตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันเองเราก็ได้เจรจากับเหมืองไว้ครบทั้ง 3 เหมืองแล้ว หากหาแหล่งเงินทุนได้แล้วเราก็จะสามารถทยอยซื้อเหมืองให้ได้ตามเป้าหมาย"นายขจรพงศ์ กล่าว