และเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการรฟม.ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมและความคืบหน้าการผลิตขบวนรถไฟฟ้าการทำงานของบริษัท Marubeni-Toshiba Joint Venture บริษัท J-TREC รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงของบริษัท JR East ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยบริษัทJ-TREc เป็นบริษัทหลักในการผลิตขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือนี้
"จากความคืบหน้าดังกล่าว เราจึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถเร่งรัดเปิดทดสอบเดินรถได้ปลายปี 2558 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้หลังกลางปี 59 เร็วกว่าแผน" นายยงสิทธิ์กล่าว
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) เปิดเผยว่า BMCL ได้รับสัมปทานสัญญา 4 จาก รฟม.เมื่อวันที่ 4 ก.ย.56 ให้เป็นผู้ลงทุนจัดหารระบบรถไฟฟ้าให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แบ่งเป็นการดำเนินงานระยะที่ 1 คือ จัดการและติดตั้งทดสอบระบบรถไฟฟ้ามีกำหนดแล้วเสร็จสิ้นปี 59 และ งานระยะที่ 2 เป็นการเดินรถและซ่อมบำรุงไปจนจบสัญญาสัมปทานในปี 86
"โครงการสายสีม่วงเหนือนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งอย่างมาก เพราะจะทำให้มีรายได้มากขึ้นเมื่อเปิดบริการทั้งรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือและรายได้ค่าโดยสารจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือมายังสายสีน้ำเงินตะวันออก(สายเฉลิมรัชสงคลที่ให้บริการอยู่ปัจจุบัน)" นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ คาดว่า ในปีนี้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินจะเติบโต 4% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 2.3 แสนเที่ยว/วัน มาที่ 2.6-2.7 แสนเที่ยว/วัน ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารที่ล่าช้ามา 2 เดือนจากกำหนด 3 ก.ค.มาเป็น 3 ก.ย.57 นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบกับเป้าหมายรายได้ที่คาดว่าจะเติบโตราว 10% โดยเฉพาะผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีขึ้นในข่วงไฮซีซั่น หลังจากไตรมาส 2/57 มีวันหยุดค่อนข้างมาก ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าลดน้อยลง
ในปีนี้ BMCL คงเป้ากำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เติบโต10% ซึ่งคาดว่าบริษัทจะยังขาดทุน แต่จะลดลงจากปีก่อน
ส่วนในปี 59 ที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)ได้เร็วกว่าแผนจาก ธ.ค.59 เป็นปลายไตรมาส 3/59หรือต้นไตรมาส 4/59 นั้น เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้มากขึ้นและเริ่มมีกำไร แต่ภาพรวมทั้งปี 59 จะยังขาดทุนอยู่ จากน้นในปี 60 ผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมามีกำไร จากการรับรู้รายได้จาการเดินรถสายสีม่วงเต็มปีที่
นายสมบัติ กล่าวว่า รายได้จากสายสีม่วงในปี 60 ซึ่งจะมาจากค่าจ้างบริหารการเดินรถ 1,700 ล้านบาท/ปี และรายได้จากตั๋วโดยสารราว 700 ล้านบาทจากสมมติฐานที่มีจำนวนผู้โดยสารจากสายสีม่วงเพิ่มเข้ามาระบบอีกประมาณ 7-8 หมื่นเที่ยว/วัน ขณะที่ รฟม.ประเมินผู้โดยสารไว้ที่2 แสนเที่ยว/วัน รวมทั้งการบริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้าจะคึกคักและคาดจะมียอดโฆษณาสูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้จากสื่อโฆษณาจะเติบโต 10-15%
"ปลายไตรมาส 3/59 หรือไม่ก็ต้นไตรมาส 4/59 มีโอกาสเปิดวิ่งได้ก่อนแผน ณ วันนั้นเราจะเริ่มมีกำไร เพราะคาดว่ารายได้เข้ามาเพิ่มอีกวันละ 2 ล้านบาทจากปัจจุบันทึ่มีรายได้ 6 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากจากผู้โดยสารสีม่วงเข้าสู่สายสีน้ำเงินก็นั่งยาวขึ้นจากเฉลี่ย 4 สถานีก็จะเพิ่มเป็น 6สถานี"นายสมบัติ กล่าว
รฟม.จะเริ่มทดสอบระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปลายปี 58 โดยทดสอบแบบแยกระบบ ใช้เวลา 2-3 เดือน จากนั้นทดสอบรวมระบบ 3 เดือนและจะทดสอบรถเหมือนจริงอีก 3 เดือน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่จะเปิดให้ผู้โดยสารมาร่วมทดลองนั่งได้ขณะที่งานโยธามีความก้าวหน้ากว่า 90%