แผนฟื้นฟูโดยละเอียดและจัดรูปแบบตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคมชี้แนะจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้รับทราบอีกครั้งในวันที่ 14 ส.ค.จากนั้นนำส่งกระทรวงคมนาคมก่อนที่จะเสนอให้สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ตรวจสอบรายละเอียดก่อนนำส่งแผนทั้งหมดต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูฯ ตั้งเป้าจะลดการขาดทุนจากที่สิ้นเดือน ก.ค.57 มีผลขาดทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยในระยะ 4 เดือนแรกของแผนต้องทำรายได้ให้ดีขึ้น โดยจะมุ่งุเน้นการให้บริการการบินในเส้นทางที่ทำรายได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น จีนตอนใต้ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พร้อมออกแคมเปญกระตุ้นตลาด เริ่มจากความร่วมมือกับคิงเพาเวอร์ ขณะที่มองว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศสงบนิ่งแล้วจะช่วยด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบินไทยด้วย
ร.ท.สุรพล กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูฯ ตั้งเป้าขาดทุนลดลงจากประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 4/57 จะเพิ่มรายได้ขึ้นอีก 3 พันล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายราว 4 พันล้านบาท
"ไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่เราเห็นว่าสามารถทำรายได้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่ทั้งปีก็ยังขาดทุน...ตอนนี้ยอด booking ในเดือนสิงหาคมดูดีขึ้นโดยรวม cabin factor 70% แล้วจากเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 60% พ้นจากที่ต่ำสุดในเดือนมิถุนายน"ร.ท.สุรพล กล่าว
ด้าน พล.อ.อ.ศิวเกียรติ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า วานนี้การบินไทยจัดงานเลี้ยงแนะนำเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 Dreamliner ได้นำเข้าประจำฝูงบินเป็นลำแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทจัดหาเครื่งบินโบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์จำนวนทั้งสิ้น 6 ลำ โดยอีก 3 ลำจะรับมอบในปี 57 คือในเดือน ก.ย., เดือน ต.ค. และ เดือน พ.ย.นี้ ส่วนอีก 2 ลำรับมอบในเดือน เม.ย.และเดือน มิ.ย.58
เครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ลำแรกของการบินไทยนำไปให้บริการในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เริ่มบินเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อรับมอบลำที่ 2 จะนำทั้งสองลำมาให้บริการในเส้นทางกรุงเทพ-ฮาเนดะ และกรุงเทพ-เพิร์ธ เริ่มในเดือนก.ย.57 หลังจากนั้นในเดือน ต.ค.จะนำลำที่ 3 มาทำการบินเพิ่มในเส้นทางกรุงเทพ-โตเกียว และเส้นทางภูมิภาค ส่วนลำที่ 4 จะนำมาให้บริการเพิ่มในเส้นทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเช่น กรุงเทพ-นาโกย่า ในเดือนธ.ค.57
อนึ่ง เครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบิน หรือประหยัดต้นทุนน้ำมันได้ดีขึ้น 20% ต่อที่นั่ง