สำหรับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตภายในประเทศของ ธ.ก.ส. สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติ (extra-ordinary support) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมแก่ธนาคารในกรณีที่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ มุมมองดังกล่าวพิจารณาจากความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องกันในระดับสูงระหว่างธนาคารกับรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของธนาคาร ธนาคารมีสถานะทางกฏหมายเป็นธนาคารรัฐโดยมีพระราชบัญญัติเฉพาะจัดตั้ง การที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนทางการเงินมาอย่างต่อเนื่องในอดีต และการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาล
อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงบทบาทพิเศษเฉพาะตัวของธนาคาร ซึ่งมีความสำคัญต่อการสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ธ.ก.ส. ที่ 99.8% ธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการธนาคารได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ได้รับการตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะรายงานผลการตรวจสอบและเสนอคำแนะนำแก่กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในอดีตที่ผ่านมา โดยธนาคารได้รับการเพิ่มทุนทุกปีมาตั้งแต่ปี 2535 และได้รับการค้ำประกันเงินกู้ยืม ฟิทช์คาดว่า ธ.ก.ส. จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไปในอนาคต เนื่องจากธนาคารมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและยังมีความสำคัญต่อภาคชนบทของประเทศไทย
ธ.ก.ส. มีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคง โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีพอสมควรที่เฉลี่ยประมาณ 0.9% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารได้รับการเงินชดเชยจากการให้การสนับสนุนนโยบายต่างๆ จากรัฐบาล อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ ธ.ก.ส. อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักที่ 4.2% ณ สิ้นปีงบการเงินปี 2557 (31 มี.ค. 2557) แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่ผ่อนคลายกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น
สถานะของ ธ.ก.ส. ที่เป็นธนาคารรัฐตามกฎหมาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในด้านการระดมเงิน (funding) และด้านสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง และประชาชนทั่วไปยังคงมองว่าธนาคารและรัฐบาลมีความเกี่ยวโยงกันอย่างมาก อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารที่ 12.4% (ตามเกณฑ์ Basel I) ณ สิ้นปีงบการเงิน 2557 (สิ้นเดือนมีนาคม 2557) มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล แต่ธนาคารก็ได้รับการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงการคลัง
ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต อันดับเครดิตภายในประเทศไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย (Issuer Default Rating หรือ IDR) เนื่องจากความเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยจะผิดนัดชำระหนี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในประเทศ ในขณะเดียวกันหากโอกาสในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เช่น มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง เนื่องจาก ธ.ก.ส. ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในเชิงนโยบาย