อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่าใช้จ่ายในเดือน ก.ค.ยังล่าช้าและการเพิ่มรายได้ยังไม่เห็นผลในเร็วๆ นี้ ดังนั้น จึงต้องเร่งให้บริษัทใช้แผนฟื้นฟูตั้งแต่เดือน ส.ค.ไปจนถึงสิ้นปี โดยจากการประเมินเชื่อว่าผลประกอบการไตรมาส 4/57 จะมีกำไรแน่นอน แต่เมื่อรวมกับ 3 ไตรมาสแรกของปีก็ยอมรับว่าคงยังขาดทุน ซึ่งก็จะพยายามให้ขาดทุนน้อยที่สุด
“ผลประกอบการทั้งปีของการบินไทยยังคงติดลบอยู่ โดยจะขาดทุนมากกว่า 12,000 ล้านบาทในปีที่แล้วเล็กน้อยและมีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการจะติดลบถึง 20,000 ล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังประเมิน ซึ่งเราต้องยอมรับความจริง แต่สิ่งที่เราต้องต่อสู้คือให้ติดลบน้อยที่สุด" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ด้านเรืออากาศเอกมนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน THAI เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากซุปเปอร์บอร์ด ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.แผนฟื้นฟูเร่งด่วนปี 57 2.แผนฟื้นฟูระยะกลาง 2 ปี ปี 58-59 และ 3.แผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนช่วง 5 ปี เพื่อให้การบินไทยกลับเข้าสู่การแข่งขันได้เต็มรูปแบบ
มาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 4 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงการบริหาร การสร้างรายได้เพิ่มขึ้น การปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการแก้ไขโครงสร้างทางเงิน โดยเฉพาะเรื่องกระแสเงินสด ขณะเดียวกันบริษัทควรมีจำนวนพนักงานที่เหมาะสมที่ 18,000 คน แต่ปัจจุบันมีถึง 24,000 คน จึงมีแผนจะทยอยลดจำนวนพนักงานลงประมาน 1,200 คน/ปี เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งมีกระบวนการขายเครื่องบินเก่าที่อายุการใช้งานระหว่าง 20-25 ปี และจะทดแทนด้วยเครื่องบินใหม่
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ในปีนี้ที่ 10,000 ล้านบาท และปีหน้า 30,000 ล้านบาท โดยผลประกอบการจะมีกำไรตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นไป และกำไรมากกว่า 10,000 ในปีที่ 4 และ 5 ของแผนฟื้นฟู