ทั้งนี้ ไตรมาส 2/57 อุตสาหกรรมการบินของไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ไม่ปกติตั้งแต่ไตรมาส 4/56 จนถึงเดือน พ.ค.57 ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำยังมีการขยายตัว อย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสายการบินภายในกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการให้บริการระยะไกลขึ้นโดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปสู่ตลาดประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาทวีความรุนแรงมากขึ้น
ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและการแข่งขันที่รุนแรงทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึงร้อยละ 17.3 ถึงแม้ว่าบริษัทปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลงแล้วก็ตาม โดยมีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) ลดลงร้อยละ 4.9 แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร(RPK) ลดลงสูงถึงร้อยละ 14.3
ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 63.5 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 70.5 ทำให้รายได้จากการขายและการให้บริการลดลงถึง 4,326 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 และมีผลขาดทุนก่อนกำไร และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4,422 ล้านบาท หรือร้อยละ 134.9
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,008 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนฯสูงถึง 4,202 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินแอร์บัส A300-600 จำนวน 1,214 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 190 ล้านบาท เป็นผลให้ไตรมาส 2/57 ขาดทุนสุทธิ 7,654 ล้านบาทลดลงจากปีก่อน 772 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 7,662 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.51 บาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนต่อหุ้น 3.87 บาท