สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (13 – 15 สิงหาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 215,156 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 71,719 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 14% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 147,850 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 47,829 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,291 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A(อายุ 4.8 ปี) LB616A (อายุ 46.8 ปี) และ LB236A (อายุ 8.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 25,289 ล้านบาท 6,498 ล้านบาท และ 4,228 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14902A (อายุ 14 วัน) CB14N13B(อายุ 91 วัน) และ CB14O30A (อายุ 76 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 30,242 ล้านบาท 8,205 ล้านบาท และ 8,095 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT158A(AAA) มูลค่าการซื้อขาย 497 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) รุ่น BGH233A(A+) มูลค่าการซื้อขาย 421 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) รุ่น DTAC167A(AA) มูลค่าการซื้อขาย 397 ล้านบาท
ราคาของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) เพิ่มขึ้นประมาณ 0.02% - 0.05% ทั้งนี้ แม้เงินทุนต่างชาติจะไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ยังคงไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยการไหลออกจากตราสารระยะสั้น ส่วนหนึ่งเป็นการขายเพื่อทำกำไรตามปกติ เนื่องจากเม็ดเงินปริมาณมากที่ไหลเข้าสู่ตราสารหนี้ระยะสั้น จนมีผลทำให้ราคาของตราสารช่วงอายุดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไร ขณะเดียวกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ที่ยังคงเปราะบาง ทั้งจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และตัวเลข GDP ไตรมาส 2/57 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ที่ออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้อาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้นับเป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตาม เนื่องจากจะมีผลต่อการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินทุนต่างชาติในช่วงระยะเวลาถัดไป
นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 6,793 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น(อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 4,305 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 11,098 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 323 ล้านบาท