อนึ่ง รฟม. ได้เปิดขายซองประมูลโครงการดังกล่าว และมีเอกชนเข้ามาซื้อซองถึง 31 ราย โดยมีเอกชน 1 รายขอให้พิจารณาปรับแก้ TOR
“บอร์ดได้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวม เห็นว่าเกณฑ์ที่ รฟม.กำหนดไว้มีความเหมาะสมแล้ว เพราะโครงการมีมูลค่าสูงเป็นหมื่นล้าน ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอก็ต้องระดับ 5,000 ล้านบาท จะให้ผ่านงานแค่ 500 หรือ 1,000 ล้านบาทมารับงานก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงว่าเขาจะทำงานไม่ได้ เราต้องตั้งเกณฑ์ให้สูงไว้ก่อน เพื่อให้ได้บริษัทที่มีมาตรฐาน และยืนยันว่าเราไม่ได้ล็อกสเปกให้รายใหญ่ เพราะรายเล็กกว่าจะมาก็ได้ โดยรวมตัวกันเป็น joint venture เพื่อให้มีเงินทุนมั่นคงขึ้น ไม่มีการปิดกั้นใดๆ...หากปรับให้แล้วอีก 30 รายร้องเรียนจะมีปัญหาอีก" พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. ซึ่งคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) มีมติเบื้องต้นให้เปิดประกวดราคาเพื่อความโปร่งใสและแข่งขันเสรี ซึ่งการเปิดประมูลจะต้องกำหนดเงื่อนไข TOR ใหม่ให้มีการเดินรถต่อเชื่อมเป็นวงกลมกับสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคลที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งทาง บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)พร้อมให้ความร่วมมือหากมีผู้เดินรถรายใหม่
พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า การประมูลเป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 13 แต่คณะกรรมการ รฟม.เห็นว่าวิธีการเดินรถควรจะต่อเนื่องเพราะสีน้ำเงิน(บางซื่อ-หัวลำโพง)ระบบใต้ดินที่ทาง BMCL เดินรถอยู่แล้วจึงเห็นว่าถ้าสีน้ำเงินต่อขยาย BMCLเป็นผู้เดินรถก็จะเชื่อมต่อสะดวกมากขึ้น ถ้าเชื่อมต่อไม่ได้ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนรถที่ท่าพระและเตาปูนจะไม่สะดวก ดังนั้นไม่ว่าจะเปิดประมูลหรือเจรจาตรงกับ BMCL ก็ต้องให้เดินรถเชื่อมต่อกัน
"บอร์ดเสนอแนวทาง ซึ่งกก.มาตรา 13 ต้องมีการประชุมรับรองมติเรื่องประมูลอีกครั้ง หากเห็นว่าควรเจรจาก็ต้องนำเรื่องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนจากประมูลแบบ PPP เป็นเจรจาตรง BMCL แต่เชื่อว่าวิธีการเจรจาจะเร็วกว่าการเปิดประมูลใหม่แน่นอนแม้ต้องขออนุมัติ ครม.ใหม่ ซึ่งขณะนี้งานเดินรถล่าช้าแล้วในขณะที่การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้า 60% แล้วถ้ารางเสร็จไม่มีรถวิ่งประชาชนจะยิ่งเดือดร้อน"พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า การเจรจากับ BMCL รับจ้างเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือ PPP Gross cost ซึ่งเป็นสัญญาคนละรูปแบบกับสัมปทานเดินรถสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล (PPP-Net Cost) ไม่ใช่ปัญหา รวมถึงการเจรจากับบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้รับเหมาสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสัญญา 4 งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้ายกระดับจากช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร รวมศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณถนนเพชรเกษม 47 กับถนนเพชรเกษม 80 วงเงิน 13,330 ล้านบาท เพื่อให้ปรับลดเนื้องานศูนย์ซ่อมบำรุงลง ในส่วนของการจัดซื้ออุปกรณ์ซึ่งมีวงเงินส่วนนี้ประมาณ 1,700 ล้านบาทท ซึ่งเชื่อว่าซิโน-ไทยจะไม่มีปัญหาในการปรับแก้สัญญาเพราะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม