ขณะที่ในปี 60 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เฟส 2 กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำบาก กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์จะ COD ในปี 61 และในปี 62 ฝายน้ำล้นไซยะบุรี กำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์จะจ่ายไฟเข้าระบบ ทำให้ CKP จะมีกำลังการผลิตรวม 2,320 เมกะวัตต์ในปี 62 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 755 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 58-60 ใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม เฟส 2 ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำบาก
"หลังจากนี้ไปจนถึงปี 63 บริษัทจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ซึ่งเป็นการเติบโตของกำลังการผลิตเข้ามาในพอร์ต ส่วนรายได้จะเติบโตขึ้นเท่าไรขึ้นกับค่าไฟ"นางสาวสุภมาส กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทเข้าไปหาโอกาสลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในพม่า ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง โดยจะพิจารณาทั้งการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง
สำหรับผลประกอบการปี 57 กรมการผู้จัดการ CKP คาดว่า รายได้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 7 พันล้านบาท หรือเติบโต 30% จากปีก่อน โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังรายได้จะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 3.23 พันล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 3/57 เป็นช่วงหน้าฝน ทำให้มีปริมาณน้ำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นจากไตรมาส 2/57 ที่อยู่ในช่วงฤดูแล้ง
ด้านนายประเสริฐ มริตตนะพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานบริหาร บมจ. ช.การช่าง (CK) และ กรรมการ CKP กล่าวว่า CK เตรียมขายหุ้นในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบริหารโครงการไซยะบุรีที่ CK ถือ 30% ออกหมดให้กับ CKP เมื่องานก่อสร้างโครงการไซยะบุรีเสร็จในปี 62
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายอื่นในไซยะบุรีฯ ได้แก่ บริษัท อิเล็กทริไซต์ เดอ ลาว (EDL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของลาว ถือหุ้นราว 20% กลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) ถือ 25% บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือ 12.5% และ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL) ถือ 7.5%