ขณะที่ท่อส่งก๊าซในทะเล ปตท. 300-400 กิโลเมตร ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐรอนสิทธิพื้นที่ของประชาชน และท่อส่งก๊าซเส้นที่ 4 นั้น ปตท.เป็นผู้ลงทุนจัดหาพื้นที่เอง และตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)สั่งการให้ ปตท. ต้องดำเนินการแยกท่อก๊าซออกจากกิจการของ ปตท.ให้เสร็จภายในกลางปี 58 ซึ่ง ปตท.จะเร่งดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและสินทรัพย์ที่เป็นท่อก๊าซดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บริษัทที่ ปตท.จะจัดตั้งขึ้นเพื่อความโปร่งใส แยกออกจากธุรกิจก๊าซฯของ ปตท.
ท่อก๊าซที่ ปตท.จะโอนไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ตามมติ กพช.วันที่ 15 สิงหาคม 2557 นั้น เป็นทรัพย์สินเฉพาะในส่วนที่ ปตท.เป็นเจ้าของเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และ ปตท.ได้แบ่งแยกคืนให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาแล้วนั้น บริษัทท่อใหม่จะต้องไปทำสัญญาใช้ทรัพย์สินดังกล่าว โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังต่อไป “การโอนทรัพย์สินไปยังบริษัทท่อส่งก๊าซใหม่ จะเป็นการโอนทรัพย์สินในส่วนที่ ปตท. เป็นเจ้าของในปัจจุบัน แต่ทรัพย์สินในส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของ กระทรวงการคลังก็ยังคงสิทธิในความเป็นเจ้าของเช่นเดิม ซึ่งบริษัทที่ตั้งใหม่ต้องทำสัญญาให้ใช้ฯ กับรัฐเช่นกัน" นายไพรินทร์ กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและอำนาจมหาชนในช่วงการแปรรูป ปตท.นั้น ได้รับการแก้ไขโดย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น ปตท. จึงไม่มีอำนาจมหาชนใดๆ เหลืออยู่ อีกทั้ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ ปตท. ต้องคืนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ เวนคืน/รอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชน และ การใช้เงินลงทุนของรัฐ (การปิโตรเลียมฯ)
ทรัพย์สินส่วนนี้ ปตท.ได้ดำเนินการโอนคืนให้ภาครัฐตั้งแต่ปี 51 โดยไม่รวมถึงท่อในทะเล ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีบันทึกยืนยันว่า ปตท.คืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วโดยในส่วนทรัพย์สินที่ส่งมอบให้กรมธนารักษ์นั้น ปตท.ได้ทำสัญญาให้ใช้ฯ โดยได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์ ส่วนทรัพย์สินอื่น ศาลวินิจฉัยว่า ปตท.เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ในปี 55 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ ปตท.คืนท่อในทะเล ปรากฏว่าศาลฯ ไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบไป
ส่วนนโยบายของ คสช. ด้านพลังงานคือการปฏิรูปพลังงาน มิใช่การแปรรูป ปตท.ครั้งที่ 2 โดยทาง คสช.ต้องการสร้างกลไกธุรกิจเสรีอย่างแท้จริง ลดความกังวลเรื่องการผูกขาดกิจการด้านพลังงาน ซึ่งการแยกกิจการท่อก๊าซฯ ออกมาจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้บริการขนส่งก๊าซทางท่อได้อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การกำกับดูแลจากองค์กรกำกับกิจการของรัฐ (Regulator) ในอัตราค่าใช้บริการที่เหมาะสมเป็นธรรม