โดยส่วนที่มีข้อสังสัยเกี่ยวกับท่อก๊าซที่อยู่เหนือทะเลว่าเหตุใดยังไม่มีการส่งคืนนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง, กรมธนารักษ์ และ ปตท.ได้ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาข้อสังเกตในส่วนต่างๆ แล้ว พบว่าท่อที่อยู่เหนือทะเลที่ไม่ได้ฝังลงไปในทะเลนั้น ถือเป็นส่วนที่ปตท.ได้มาโดยสิทธิอันชอบ จึงไม่ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งภายหลังจากที่ ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้จัดทำรายงานเสนอต่อศาลปกครองให้รับทราบ ซึ่งศาลปกครองก็ไม่ได้มีข้อสงสัยใดๆ กลับมา ดังนั้นกรณีนี้จึงถือว่าเป็นข้อยุติแล้ว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทรัพย์สินต่างๆ ที่ปตท.โอนคืนให้เป็นสมบัติของชาตินั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้เป็นค่าอุปกรณ์และค่าท่อ 14,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นที่ดินจำนวน 106 แปลง หรือราว 32 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แนะให้มีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการท่อก๊าซ โดยให้ ปตท.ถือหุ้น 100% นั้น นายรังสรรค์ ยืนยันว่า ไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ถือหุ้นอยู่ใน ปตท. 51% และมีกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นด้วย 14% รวมเป็น 65% จึงไม่ถือเป็นการผูกขาดโดยเอกชน โดยในระยะต่อไปกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทใหม่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและต้องพิจารณาถึงความพร้อมของวงเงินที่จะใช้ดำเนินการด้วย โดยเบื้องต้นอาจจะเข้าไปถือหุ้นเพิ่มอีก 25% และอาจเข้าไปซื้อหุ้นก่อนที่บริษัทจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย็์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันค่าเช่าพื้นที่ที่ ปตท.จ่ายให้แก่กรมธนารักษ์ได้ใช้วิธีการคำนวณตามรายได้แบบลำดับขั้น โดยหากปตท.มีรายได้จากธุรกิจท่อก๊าซเกินปีละ 5,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายค่าเช่าสูงสุด 36% โดยที่ผ่านมา ปตท.จ่ายให้กรมธนารักษ์เฉลี่ยปีละ 500-550 ล้านบาท