“เราต้องการทำธุรกิจที่นี่อย่างยั่งยืน และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุข จึงไม่มีทางที่เราจะปล่อยให้เหมืองสร้างผลกระทบต่อชุมชนจนอยู่ไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงเราย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ที่ผ่านมาเราจึงมุ่งดูแลทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ โดยมีระบบบริหารจัดการป้องกันผลกระทบ ด้านต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นละออง น้ำเสียและสารเคมีจากกระบวนการผลิต โดยได้จัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ISO 9001รวมถึงมาตรฐานสากลทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004 นอกจากนั้นการประกอบการของเหมืองจะไม่มีน้ำเสียไหลออกนอกบริเวณเหมืองโดยเด็ดขาด (Zero Discharge) เนื่องจากบ่อเก็บกากแร่มีการบดอัดด้วยดินเหนียวอย่างดีตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งปูพื้นด้วยพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) ทำให้บ่อเก็บกากแร่ของเราเป็นบ่อที่ดีที่สุดในจำนวนไม่กี่แห่งของโลก รวมทั้งมีการสร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาถนนหนทาง และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งด้านการศึกษา เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายปกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยอมรับว่าถึงแม้เหมืองจะดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีกลุ่มแกนนำในพื้นที่เดินหน้าร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจของเหมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเหมืองก็พร้อมยอมรับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานและไม่เคยพบว่ามีโลหะหนักที่เป็นอันตราย ต่อชุมชน และสร้างผลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง และหลังจากนี้ทราบว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่จังหวัดพิจิตร แต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 5 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยราษฎรในชุมชน ผู้แทนจากเหมืองทอง นักวิชาการ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายราชการทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาทั้งหมด ซึ่งเหมืองพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้เหมืองและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ด้านนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายใบอนุญาต กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้แกนนำราษฎรในพื้นที่จะเคลื่อนไหวร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของเหมืองอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริหารไม่เคยออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลสำคัญที่คาดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้แกนนำต่อต้านเหมืองยังเดินหน้าร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกมองเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก แต่หลังจากที่เหมืองกลายเป็นจำเลยสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงขอนำข้อเท็จจริงออกมาเผยแพร่เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพความขัดแย้งและเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน โดยเชื่อว่าปัญหาการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของแกนนำต่อต้านเหมืองเกิดจากต้องการให้เหมืองรับซื้อที่ดินซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับเหมืองในราคาที่ตนเองกำหนด ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติ
“เรามั่นใจว่าเป็นประเด็นนี้เพราะทางแกนนำได้เสนอขายที่ดินต่อเหมืองและระบุต่อหน้าศาลที่นัดไกล่เกลี่ยว่าถ้าตกลงกันได้ก็จะไม่มีความขัดแย้งกันอีก โดยจะถอนฟ้องคดีจากศาลทั้งหมด ซึ่งราคาบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่เสนอขายราคาตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท และราคาที่ดินไร่ละ 5 แสนบาท รวมมูลค่าที่ขาย 323 ล้านบาท ในขณะเดียวกันแกนนำบางคนยังซื้อที่ดินที่บอกว่าได้รับผลกระทบจากเหมืองเพิ่มอีกถึง 2 แปลงและนำมาเสนอขายในตราวเดียวกัน และบางคนมีโอกาสรับเงินจากการขายที่ดินของตัวเองและค่าดำเนินการในฐานะแกนนำรวมเป็นเงินถึง 50 ล้านบาท หากเหมืองยอมรับซื้อในราคาที่เสนอขาย" นายเชิดศักดิ์ กล่าว
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.56 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) จำนวน 317,375,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 71,000,000 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 6.48 ของจำนวนหุ้นสำมัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และหุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมคือบริษัท เอเชียโกลด์ จำนวน 246,375,000 หุ้น คิดป็นร้อยละ 22.50 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสำมัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET)