FSMART เผย ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่งขายหุ้น IPO คาดเข้าเทรดตลาด mai ต.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 21, 2014 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นสามัญของบมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)ของ FSMART เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ในราวเดือน ต.ค.นี้

FSMART จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรกจำนวน 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น แบ่งออกเป็นจำนวนหุ้นเพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 104.00 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญของ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) จำนวนไม่เกิน 96.00 ล้านหุ้น ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Right) ซึ่ง FORTH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 61.00 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท โดยราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญของ FORTH จะเป็นราคาเดียวกับราคาที่เสนอขาย IPO

“เงินที่ระดมทุนได้จากการขายหุ้น IPO บริษัทฯจะนำไปขยายจำนวนตู้เติมเงินให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ ขณะที่เงินบางส่วนจะนำใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเสนอขายหุ้นจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และมีการเติบโตตามเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมมือถือที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายสมภพ กล่าว

FSMART ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า และบริการเติมเงินออนไลน์ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติในนาม "บุญเติม" ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนรวม 400.00ล้านบาท มีทุนที่ชำระแล้ว 300.00 ล้านบาท

นายพงษ์ชัย อมตานนท์ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร FSMART กล่าวว่า บริษัทยังคงเป็นผู้นำตลาดตู้เติมเงินมือถือ ด้วยสัดส่วนทางการตลาดที่มีมากกว่า 7% หรือประมาณ 4,389 ล้านบาท จากมูลค่ารวมของการเติมเงินมือถือ 56,350 ล้านบาท แสดงให้เห็นโอกาสที่ยังมีอีกมากในอุตสาหกรรมการเติมเงินมือถือ แม้จะมีการแข่งขันแต่ด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และบริการที่ครอบคลุม ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากยอดเติมเงินที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 56 บริษัทมียอดการเติมเงินมือถือและเติมเงินออนไลน์อื่นๆ ผ่านตู้บุญเติมรวม 7,289 ล้านบาท จากจำนวนตู้เติมเงินทั้งหมด 32,692 ตู้ ซึ่งยอดเติมเงินเหล่านี้มาจากตัวแทนบริการ(แฟรนไชส์) และพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น 7-Eleven , Family Mart , Tesco Lotus, รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS), Lawson, 108 Shop, The Mall, Tops, CP Freshmart, ทีโอที (TOT) เป็นต้น

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 57 บริษัทมีตู้เติมเงินบุญเติม 36,658 ตู้ มียอดเติมเงินมือถือและเติมเงินออนไลน์อื่นๆ ผ่านตู้บุญเติมรวม 4,820 ล้านบาท และมีการเพิ่มบริการต่างๆให้มีความหลากหลายในการให้บริการรวม 45 รายการ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการใช้งานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ โดยในปีนี้บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะมีตู้เติมเงินเพิ่มเป็น 40,000 ตู้ในปี 57 และ 55,000 ตู้ในปี 58 ซึ่งการเพิ่มจำนวนตู้เติมเงินนั้น ทางบริษัทฯเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มยอดเติมเงินให้มากขึ้นจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จากการขยายตู้บุญเติมเพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 57 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 530.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 65.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ