สำหรับอาคารผู้โดยสารดังกล่าวอยู่บริเวณทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A และมีหลุมจอดเครื่องบินอยู่แล้ว ซึ่งมีแผนจะใช้อาคารผู้โดยสารนี้รองรับทั้งผู้โดยสารในประเทศและต่างประเทศ หรือเป็น Multi Terminal ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี มีงบลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท
นายประสงค์ กล่าวว่า การปรับการลงทุนมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแทน เพราะใช้งบลงทุนน้อยกว่าโครงการขยายเฟส 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ใช้งบลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ใกล้เคียงกันที่ 20 ล้านคนต่อปี
การลงทุนก่อสร้าง Multi Terminal วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ ทอท.ที่ตามแผนเดิมหากลงทุนสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาทนั้นคาดว่าในปี 59-60 ทอท.จะมีปัญหาสภาพคล่องเพราะต้องกู้เงินมาลงทุนส่วนหนึ่ง โดยคาดว่าเงินทุนหมุนเวียนที่มีประมาณ 6 หมื่นล้านบาทจะครอบคลุมการลงทุนก่อสร้าง Multi Terminal รวมไปถึงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานภูเก็ตได้อย่างเพียงพอ ส่วนการดำเนินงานในปี 2557 นี้ คาดว่ากำไรไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
"คิดว่าการลงทุนอาคารผู้โดยสารใช้เงินลงทุนน้อยกว่าทำเฟส 2 แต่รองรับผู้โดยสารได้พอกัน และทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับได้ 60-65 ล้านคนต่อปี โดยปลายปีนี้สรุปและส่งให้ครม.อนุมัติ ปีหน้าก็เปิดประมูลได้ ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ทำได้เร็วและใช้เงินลงทุนน้อย ไม่กระทบกับ Cash Flowบริษัท ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 6 หมื่นล้าน" นายประสงค์กล่าว
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 47 - 50 ล้านคนต่อปี เกินกว่าขีดความสามารถรองรับที่ 45 ล้านคนต่อปี และคาดว่าในปี 60 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นและเกินกว่าขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่รองรับได้ เมื่อรวมกับงานก่อสร้างในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 80 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงปี 2566
สำหรับอาคาร Multi Terminal นั้น จะก่อสร้างด้านตะวันออกของอาคารปัจจุบัน รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ประมาณ 8 ล้านคนต่อปี ผู้โดยสารในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี) รวม 20 ล้านคนต่อปี สามารถปรับเปลี่ยนได้ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์ผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 1.1 แสนตารางเมตร โดยมีหลุมจอดประชิดอาคารอีก 10-12 หลุมจอด ทำให้มีหลุมจอดประชิดอาคารรวม 63 หลุมจอด ค่าก่อสร้างอาคารประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และค่าก่อสร้าง โมโนเรล เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักหลังเดิมกับ Multi Terminal อีกประมาณ 7.5 พันล้านบาท วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 2.4 หมื่นล้านบาท ดำเนินการ 4 ปี โดยจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่อง การจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ เพิ่มพื้นที่ ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร พิจารณาระบบเส้นทางการเข้าออกอาคารเพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสารหลัก และพิจารณาการขนส่งกระเป๋าสัมภาระเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่สาม ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ให้กระทรวงคมนาคมประสานกับกองทัพเรือเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่สามนั้น ให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ประสานกับกระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือเพื่อดำเนินการตามมติดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ แผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก หรือหลักร้อยล้านบาทเนื่องจากจะเป็นการปรับปรุงอาคารเพิ่มเติม ตั้งเป้าเริ่มต้นรองรับผู้โดยสารที่ 2.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ รวมถึงให้ ทอท.ทบทวนความเหมาะสมในการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 อีกครั้งว่าจะดำเนินการที่ความยาว 2,900 เมตร หรือ 4,000 เมตรเต็มประสิทธิภาพ โดยให้พิจารณาประโยชน์ความจำเป็นในการใช้งานเป็นหลัก
นายประสงค์ ยังกล่าวว่า นายเมฆินทร์ เพ็ชรลาย ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.57 และแต่งตั้งให้นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน กรรมการ AOT เป็นรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แทน และจะเร่งสรรหากรรมกาผู้อำนวยการใหญ่ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้แต่งตั้งพลโท กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และการบริหาร เป็นกรรมการอิสระ เข้าดำรงตำแหน่งแทน นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ และ พลอากาศโท ประกิต ศกุณสิงห์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ เป็นกรรมการอิสระ เข้าดำรงตำแหน่งแทนนายถิรชัย วุฒิธรรม